องค์การหมอไร้พรมแดน หรือ MSF ประกาศไม่รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตรการผู้ลี้ภัยอียู-ตุรกี
องค์การหมอไร้พรมแดน หรือ MSF เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านมนุษยธรรม ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่โรคระบาด ก่อตั้งขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญทั่วโลก และเคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี 1999
ในปี 2015 องค์การหมอไร้พรมแดนได้รับทุนจากสหภาพยุโรปจำนวน 46 ล้านยูโร (เกือบ 2 พันล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8 ของงบประมาณแต่ละปี
องค์การหมอไร้พรมแดนเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับตุรกีที่มีขึ้นเมื่อเดือนทีนาคมที่ผ่านมา ที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยที่พยายามเข้ายุโรปผ่านทางประเทศกรีซ ให้เดินทางไปอยู่ในค่ายพักพิงที่ตุรกีแทนนั้น เป็นนโยบายที่ขัดกับหลักการการให้ความช่วยเหลือ เพราะไม่มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้เดือดร้อน แต่เป็นเพียงการควบคุมพรมแดนเท่านั้น
ภายใต้ข้อตกลงนี้ ทำให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่พยายามเดินทางเข้ายุโรปผ่านทางประเทศกรีซถูกผลักดันให้ไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ตุรกีแทน และถ้าตุรกีสามารถทำตามเงื่อนไขภายในประเทศได้อีกจำนวนหนึ่ง ตุรกีก็จะได้รับสิทธิพิเศษทางวีซ่าที่สามารถเดินทางเข้าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้
องค์การหมอไร้พรมแดนระบุว่าดีลนี้ ทำให้คนกว่า 8,000 คน ซึ่งรวมถึงเด็กๆ ที่เดินทางมาโดยลำพัง ต้องถูกทอดทิ้ง แต่ MSF ก็จะทำงานในกรีซและพรมแดนระหว่างตุรกีและซีเรียต่อไป แต่จะหาเงินทุนจากแหล่งอื่นๆ แทน
“เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่องค์การหมอไร้พรมแดนพยายามพูดถึงปฏิกิริยาอันน่าอับอายของสหภาพยุโรป ที่มุ่งแต่จะกีดกันคนออก แทนที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือและให้ความคุ้มครอง” เจโฮมม์ โอเบอร์ไรต์ (Jerome Oberreit) เลขาธิการสากลขององค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว
เขายังเห็นว่า ดีลระหว่างอียู-ตุรกี ทำให้แนวคิดหลักเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และแนวทางการคุ้มครอง ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะมันเป็นตัวอย่างที่อันตราย โดยส่งสารว่า การช่วยดูแลคนที่ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศบ้านเกิด เป็นเพียงทางเลือกที่จะทำหรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลเคนยาอ้างถึงแนวนโยบายเรื่องผู้อพยพของสหภาพยุโรปที่เปิดช่องให้เคนยาปิดค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดแล้วส่งตัวคนจำนวนมากกลับประเทศโซมาเลีย