รัฐบาลตุรกีได้ที กวาดล้างฝ่ายเห็นต่างกว่า 50,000 ราย ประชาชนหวั่นกลายเป็นรัฐศาสนา

รัฐบาลตุรกีใช้ข้ออ้างกบฏ จับกุม ไล่ออก และสั่งพักงานฝ่ายเห็นต่างไปแล้วมากกว่า 50,000 ราย และอาจเตรียมเปลี่ยนความสมัยใหม่ของตุรกี ให้กลายเป็นรัฐเคร่งศาสนา

ภายหลังทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อการรัฐประหารในประเทศตุรกี โดยยึดพื้นที่สำคัญและยึดสถานีโทรทัศน์เมื่อช่วงคืนวันที่ 15 ก.ค.  ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เกิดการปะทะ ผลสุดท้ายรัฐประหารไม่สำเร็จ และเกิดความเสียหายโดยมีผู้เสียชีวิต 232 รายและบาดเจ็บ 1,541 ราย แต่รัฐบาลพลเรือนก็ใช้โอกาสนี้ปราบปรามผู้เห็นต่าง

ความพ่ายแพ้ของทหารกลุ่มที่ก่อรัฐประหารครั้งนี้ แม้ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งโล่งใจที่พ้นเงื้อมมืออำนาจทหารได้เพราะเคยเจ็บช้ำกับอดีตที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหารมายาวนาน แต่สิ่งที่ตามมาก็สร้างความกังวลไม่แพ้กัน เพราะขณะที่ประชาชนดิ้นรนปกป้องประชาธิปไตยจากอำนาจเผด็จการทหาร แต่ก็ต้องหนีเสือปะจรเข้ มาเจอกับประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเคร่งศาสนาและมักกระทำการใดๆ โดยนำศาสนามาอ้าง หรือเป็นอิสลามมิสต์ (Islamist) ซึ่งเขาก็ใช้โอกาสนี้กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม และมีแนวโน้มที่เขาจะพยายามเปลี่ยนระบบรัฐจากเดิมที่เป็นรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐฆราวาสที่ปกครองโดยไม่นำศาสนามาเกี่ยวข้อง (Secular State) ให้หันมาเป็นรัฐที่อิงศาสนาแทน

ประธานาธิบดีแอร์โดอันพุ่งเป้าไปที่อิหม่ามเฟตุลเลาะห์ กูเลน โดยกล่าวหาว่าเขาอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร ด้านนายกรัฐมนตรีบินาลี ยิลดิริม ก็กล่าวหาว่า นายกูเลนได้ก่อตั้งองค์กรก่อการร้าย ทำให้ทางการตุรกีเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งตัวอิหม่ามกูเลนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ขณะที่นายกูเลนก็กล่าวว่าข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องไร้สาระ

ทั้งนี้ บีบีซีรายงานอ้างอิงสื่อในตุรกีที่ระบุว่า จากการกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองครั้งนี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอัน สั่งไล่ออกครูและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาไปแล้วราว 15,200 ราย และสั่งให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำนวน 1,577 คนลาออกจากตำแหน่ง ปลดเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย 8,777 ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ 1,500 ตำแหน่ง และเจ้าหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีอีก 257 คนให้ออกจากตำแหน่งด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงานด้านการกำกับดูแลสื่อของตุรกี ยังเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีวิทยุและโทรทัศน์รวม 24 แห่งที่ถูกมองว่าเชื่อมโยงกับนายกูเลน

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกจับกุมกว่า 6,000 นาย มีตำรวจ 9,000 นายถูกไล่ออก และผู้พิพากษากว่า 3,000 คนที่ถูกพักงาน

ประธานาธิบดีแอร์โดอันเริ่มเข้าสู่อำนาจในปี 2002 ตัวเขามีจุดยืนแบบอิสลามมิสต์ (Islamist) ซึ่งชอบกระทำการใดๆ โดยอ้างศาสนาอิสลาม และหลังดำรงตำแหน่งมา 14 ปี เวลานี้เขาต้องการเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มาเป็นระบอบประธานาธิบดีระดับสูง หรือ Executive presidency ที่จะทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากกว่าเดิม

เขายังได้ชื่อว่าเป็นนักละเมิดสิทธิสื่อ มีประวัติการปิดสื่อมาหลายครั้ง ตัวเขาเริ่มนำระบบการศึกษาแบบอิงศาสนาเข้ามาใช้ในโรงเรียน และเพิ่มความควบคุมการดื่มแอลกอฮอลล์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และพยายามปิดปากผู้ที่วิจารณ์นโยบายของเขา

บีบีซีสัมภาษณ์ชาวอิสตันบุลคนหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า Aysegul เธอเล่าว่าในวันที่รู้ว่ามีคนพยายามก่อรัฐประหาร เธอรู้สึกกลัวมาก แต่เวลานี้กลับรู้สึกกลัวยิ่งกว่า เพราะเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ และเป็นจุดจบของระบบประชาธิปไตยและการแบ่งแยกรัฐออกจากศาสนา (secularism) เธอกล่าวว่า แน่นอนว่าเธอคัดค้านการรัฐประหาร แต่ทางเลือกที่มีก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน ความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นการปูทางไปสู่ระบอบเผด็จการโดยสมบูรณ์

Aysegul บรรยายความรู้สึกว่า นับแต่คืนวันศุกร์เป็นต้นมา เธอรู้สึกว่าตุรกีกลายเป็นที่ที่อยู่ยากสำหรับผู้หญิงสมัยใหม่ ตอนนี้ เธอพกผ้าคลุมผมกับเสื้อเชิร์ตแขนยาวเก็บไว้ในรถ เผื่อไว้ในกรณีที่ถูกล้อมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะที่ Joy หญิงสาวอีกคนจากกรุงอิสตันบุลยอมรับว่า เริ่มแรกที่ได้ยินว่ามีรัฐประหารก็รู้สึกดีใจ เพราะเธอมองไม่เห็นทางใดที่จะทำให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันออกจากตำแหน่งได้เลย เธอกล่าวว่าแม้จะรู้ดีว่ารัฐประหารไม่ทำให้เกิดสิ่งที่ดี แต่ชาวตุรกีสิ้นหวัง และหลังวันจราจล เธอรู้สึกแปลกแยก รู้สึกไม่ชอบผู้คนที่เห็นตามท้องถนน มันเห็นได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มเคร่งศาสนารุนแรง และกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเข้มแข็งขึ้นนับจากนี้ ตุรกีได้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้หญิงอย่างเธออาศัยอยู่ได้ยากขึ้น

วอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์ Levent Piskin นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ในกรุงอิสตันบูลเล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ กลุ่มเคร่งศาสนาเข้ามารังควานเพื่อนของเขาขณะกำลังเดินอยู่ในย่านทักซิมสแควร์เพียงเพราะว่าเธอใส่ชุดรัดๆ สำหรับเขาแล้ว การรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม “รากฐานนิยมอิสลาม” (Fundamentalists) มีเสรีภาพมากขึ้นที่จะแสดงออกถึงความเชื่อตามจารีตและคัมภีร์ดั้งเดิม ส่วนตัวเขาเขาบอกว่า เขาเป็นเกย์ เขาสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและประชาธิปไตย ดังนั้น แน่นอนว่าเขากลัวกลุ่มอิสลามมิสต์ และสถานการณ์ทั้งหมดตอนนี้ก็น่าเป็นห่วงมาก

ชายชาวตุรกีอีกคน Mesut Duman ซึ่งไม่ได้เคร่งศาสนาและมองตุรกีในฐานะประเทศในยุโรปมากกว่าตะวันออกกลาง เล่าว่า ทันทีที่เห็นภาพในเฟซบุ๊กว่ามีกลุ่มทหารไปปิดถนน สิ่งแรกที่คิดก็คือ แอร์โดอันจะต้องฉวยโอกาสจากเหตุการณ์นี้แน่

การกวาดล้างครั้งนี้สร้างความกังวลในสายตานานาชาติ สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ตุรกียึดหลักนิติธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ด้านนายมาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรปกล่าวว่า สิ่งที่ตุรกีทำก็คือการ “ล้างแค้น” ฝ่ายตรงข้ามและผู้วิจารณ์ เขายังแสดงความกังวลต่อแนวโน้มที่ตุรกีอาจฟื้นคืนโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง และเตือนตุรกีว่า นี่จะทำให้การเจรจาให้ตุรกีเข้าร่วมในกลุ่มอียูยุติลง

ที่มา:

ที่มาภาพ: Lubunya จาก wikimedia