จอห์น โอลิเวอร์ พิธีกรข่าวชื่อดัง หยิบประเด็นวิกฤตวงการวารสารศาสตร์ในปี 2016 เมื่อนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งถือเป็นสายงานส่วนน้อยที่ผลิตงานเชิงลึก และเมื่อมีผลงานออกมาก็มักถูกผลิตซ้ำใช้ต่อในสื่อประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะสื่อทีวี แต่กลับปรากฏว่า ธุรกิจงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับอยู่ไม่รอดเพราะโฆษณาลด เม็ดเงินที่เทไปที่สื่อออนไลน์ก็ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดเนื้อหาข่าว เพราะเน้นแต่เนื้อหาที่จะทำให้ยอดคลิกมาก ซึ่งไม่เพียงแต่นักวารสารศาสตร์ที่กำลังจะตายเท่านั้น สื่อทั้งระบบก็จะตายด้วย และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้สังคมที่คนเสพข่าวไม่ค่อยจะจ่ายเงินเพื่ออ่านข่าวอีกต่อไปแล้ว
รายการ Last Week Tonight เป็นรายการจับกระแสสังคมในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โดยจอห์น โอลิเวอร์ พิธีกรข่าวมักเลือกหยิบประเด็นสำคัญในกระแสมาค้น เรียบเรียงข้อมูล แล้วอธิบายออกมาในเชิงตลกหรือเสียดสี สำหรับรายการเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 ส.ค.) เขากล่าวถึงปรากฏการณ์ปัจจุบันที่นักวารสารศาสตร์หรือนักข่าวกำลังเจอวิกฤต
ขณะที่ธุรกิจสื่อตอนนี้สนใจว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้ยอดคลิกเข้าชมเว็บไซต์มากๆ แต่โอลิเวอร์เห็นว่า แม้ในเงื่อนไขธุรกิจตอนนี้ สิ่งที่ยังสำคัญก็คือการรายงานข่าวแบบดั้งเดิมของนักข่าวหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น ที่กลายเป็นที่พึ่งพา ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคข่าวสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสื่อประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะสื่อทีวี ที่เมื่อรายงานข่าวก็ต้องอ้างหรือผลิตซ้ำสื่อหนังสือพิมพ์เป็นหลัก
“สื่อสารมวลชนก็เป็นห่วงโซ่อาหารหนึ่งที่จะต้องพังลงถ้าขาดหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น” จอห์น โอลิเวอร์กล่าวในรายการ
เขาอธิบายต่อว่าปัญหาหลักที่ทำให้หนังสือพิมพ์ทั้งหลายเริ่มอยู่ไม่ได้ ก็มาจากการลดลงของโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ แต่วงการโฆษณาดิจิทัลก็ไม่ช่วยสร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมาได้
แต่ถึงกระนั้น เขาเห็นว่า คนที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมสื่อเจ๊ง มันก็คือ “เรา” ที่ไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อเสพงานที่นักวารสารศาสตร์ผลิตออกมา เราก็ต่างเติบโตขึ้นมากับความคุ้นเคยที่จะได้อ่านข่าวฟรี แล้วยิ่งนานเท่าไรที่เราได้ของฟรี มันก็ยิ่งทำให้เราไม่อยากจะจ่ายเงินให้กับสิ่งนั้นมากขึ้น
สำหรับชีวิตคนพันธุ์สื่อก็ถือว่าลำบากยากเข็ญ โอลิเวอร์ยกตัวอย่างกรณีของหนังสือพิมพ์โอเรกอเนียน ที่เมื่อปี 2014 มีข้อมูลเผยออกมาว่าทางหนังสือพิมพ์บังคับให้นักข่าวต้องเขียนบล็อกอย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวัน (ต่อมากฎนี้ถูกถอดไปแล้ว)
โอลิเวอร์เห็นว่า ถ้านักข่าวต้องถูกเรียกร้องให้ทั้ง เขียน แก้ ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ และทวีตด้วย แนวโน้มที่จะเกิดความผิดพลาดก็ย่อมเกิดขึ้นได้
ปรากฏการณ์ที่นักข่าวต้องทำสารพัดสิ่ง เกิดขึ้นพร้อมกับยุคที่หนังสือพิมพ์ต่างก็ต้องขยายงานออกไปทางออนไลน์ อันตรายที่มาควบคู่กันก็คือ เนื้อหาในออนไลน์ก็ต้องมุ่งเป้าหมายให้ได้ยอดคลิกสูงๆ ซึ่งหมายความว่า มันก็ต้องล่อด้วยเนื้อข่าวที่ดูดยอดคลิกได้เยอะๆ
ในช่วงท้ายของรายการ ยังแซวบรรยากาศในกองบรรณาธิการ โดยหยิบซีนในภาพยนตร์เรื่อง Spotlight ที่เป็นเรื่องราวของนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน โดยนำมาเล่าเรื่องใหม่ในซีนการประชุมข่าวที่นักข่าวคนหนึ่งพยายามเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่น แต่ก็ถูกกลบความสนใจไปด้วยเรื่องราวของแมวหง่าวที่หน้าตาเหมือนตัวแรคคูน
แถมจากนั้น นักข่าวที่ตามคดีคอร์รัปชั่นก็พยายามไปเกาะติดแหล่งข่าวเพิ่ม แต่แล้วบรรณาธิการก็โผล่มากลางคันพร้อมกับตำหนิว่า ทวีตข้อความน้อยเกินไป
แม้งานข่าวจากสนามและจากท้องถิ่นจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลน แต่ก็อาจเป็นธุรกิจที่กำลังจะล้มหายตายจากกันไป หากไม่ใช่ตายจากเพราะธุรกิจพังจึงต้องเลย์ออฟพนักงาน ก็เป็นการตายจากเพราะนักข่าวคนหนึ่งต้องทำงานสารพัดและอาจล้มตายจากการทำงานหนักเกินไปนั่นเอง
ที่มา: Guardian