Site icon Banana Post

“กฎ 5 วินาที ของกินตกพื้น” เป็นเรื่องโม้… (ต้องให้งานวิจัยบอกด้วย?)

จะด้วยความเสียดายหรือด้วยความเชื่อก็ตามแต่ เราๆ ท่านๆ คงเคยเข้าข้างตัวเองในเวลาที่ขนมน่าอร่อยตกพื้น แล้วอาศัยความเร็วรีบคว้ามันขึ้นมา พร้อมกับปลอบใจตัวเองว่า ตกพื้นไม่ถึง 5 วินาที เชื้อโรคยังไม่ได้แอ้มหรอก! เรื่องนี้มีคนซีเรียสถึงขั้นไปทำการศึกษา ก่อนจะพบว่า กฎ 5 วิฯ นั้นไม่เป็นจริง

ศาสตราจารย์ โดนัลด์ ชัฟเนอร์ (Donald W. Schaffner) นักจุลชีววิทยาอาหาร จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers) ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา บอกว่า จากงานที่เขาศึกษามาสองปี ได้ข้อสรุปว่า อาหารที่ตกพื้นแล้ว ไม่ว่าจะคว้าขึ้นมาเร็วแค่ไหน แต่ก็ย่อมมีเชื้อแบคทีเรียติดตามขึ้นมาเสมอ

ศาสตราจารย์ชัฟเนอร์และลูกศิษย์ปริญญาโทของเขา โรบิน มิแรนดา (Robyn C. Miranda) ลองทดสอบเรื่องเชื้อโรคกับพื้นผิว 4 แบบ คือ สเตนเลส กระเบื้องเซรามิค พื้นไม้ และพื้นพรม โดยทดสอบกับอาหาร 4 ประเภท นั่นคือ แตงโม ขนมปัง ขนมปังเนย และลูกอมเคี้ยวหนึบรสสตรอเบอร์รี่

อาหารเหล่านี้ถูกทิ้งลงที่ความสูง 5 นิ้ว ให้ตกลงไปบนพื้นผิวทั้ง 4 ประเภทซึ่งชโลมด้วยแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาหารเหล่านี้ถูกปล่อยลงแล้วทิ้งไว้ด้วยระยะเวลาที่ต่างกัน ตั้งแต่ต่ำกว่า 5 วินาที ไปถึง 30-300 วินาที โดยผสมผสานตัวแปรทั้ง พื้นผิว อาหาร และระยะเวลา ออกมาเป็นความเป็นไปได้ 128 แบบ โดยแต่ละแบบทดลองซ้ำ 20 ครั้ง

งานวิจัยพบว่า กฎ 5 วิฯ ใช้การได้บ้างในแง่ที่ว่า ยิ่งอาหารสัมผัสเชื้อนานเท่าไร แบคทีเรียก็ไปเกาะได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าอาหารใดๆ ที่ตกลงพื้นไปแล้ว ไม่มีทางที่จะหนีพ้นไปจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้

ที่น่าแปลกใจคือ ปรากฏว่าพื้นพรมดูจะทำให้อาหารติดเชื้อแบคทีเรียได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นผิวอื่นๆ ส่วนแตงโมชุ่มน้ำก็ปนเปื้อนเชื้อโรคง่ายที่สุด ขณะที่ลูกอมเคี้ยวหนึบมีโอกาสปนเปื้อนน้อยที่สุด

งานศึกษาของศ.ชัฟเนอร์ยังกล่าวว่า คนมักคิดว่าเชื้อโรคต่างๆ เป็นของคนอื่น และคนมักเชื่อกันเป็นการทั่วไปว่า ห้องน้ำของตัวเองสะอาดว่าห้องน้ำสาธารณะ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยว บางทีห้องน้ำสาธาณะอาจะสะอาดกว่าเพราะมีคนทำความสะอาดตลอดเวลา

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศาสตราจารย์วิลเลียม ฮอลล์แมน (William K. Hallman) กล่าวว่า คนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยหลักการประเมินความเสี่ยงตลอดเวลา แต่มักใช้สามัญสำนึกตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าบางทีก็คาดการณ์ผิดหรือมีช้อมูลผิด ตัวอย่างเช่น เชื้อโรคไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะไม่ต้องสนใจมัน คนจึงกล้าหยิบชอคโกแลต M&M ที่หล่นพื้นเข้าปากได้ เพราะมองไม่เห็นเชื้อโรค

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงงานสำรวจทางโทรศัพท์จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนในปี 2005 พบว่า โดยเปรียบเทียบแล้ว ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะหยิบอาหารหรือส้อมที่หล่นพื้นขึ้นมา หรือถ้าเจอแมลงหรือเส้นผมในอาหารก็มักหยิบออกแล้วกินต่อไป

ที่มา: Christopher Mele. ‘Five Second Rule’ for Food on Floor Is Untrue, Study Finds. The New York Times.
ที่มาภาพ: จากภาพยนตร์เรื่องปุกปุย

Exit mobile version