งานหนักทำคนตาย (มาแล้วนักต่อนัก)

1232025852_c40897e68e_z

ภาพโดย hiroo yamagata

ใครว่างานหนักไม่ทำให้ใครตาย มีพนักงานออฟฟิศคอปกขาวทั่วโลกทำงานหนักจนตายมาแล้ว โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ประเทศที่มีประวัติต้องจ่ายเงินชดเชยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอันเกิดจากการทำงานหนักเกินไป หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คาโรชิ (Karoshi)

Jessie Lim คอลัมนิสต์ที่ Strait Times รวมรวมข้อมูลคนทำงานที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักทั่วโลก รวบรวมมาได้ 6 กรณี หลายกรณีเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นแบ่งประเภทการทำงานจนตายออกเป็น 2 แบบ คือ ภาวะปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่มาจากการทำงานมากเกินไป และการฆ่าตัวตายจากปัญหาทางจิต

ตัวอย่างคนที่ตายจากการทำงานหนัก เช่น กรณีของโทชิซึกุ ยากิ อายุ 43 ปี ทำงานแวดวงโฆษณา แต่กรณีนี้ กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นไม่ยอมนับรวมว่าเป็นเรื่องเสียชีวิตจากการทำงานหนักเพราะเขาไม่ได้ทำงานต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานวันละ 16 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน 7 วันก่อนเขาล้มพับไป แต่ข้อเขียนที่เขาทิ้งไว้ก่อนตายก็สะท้อนถึงความเครียดที่เขามี เขาบอกว่าคนงานของบรรษัทต่างๆ ที่แท้แล้วก็คือ “ทาส” นี่เอง คุณค่าของคนวัดกันแค่ชั่วโมงการทำงาน และแรงงานทาสก็ไร้อำนาจต่อรอง ทาสบรรษัทเหล่านี้ไม่ได้สิทธิที่จะซึมซับความสุขแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เช่น สิทธิที่จะได้นั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับคนในครอบครัว

เคนิจิ อูชิโน อายุ 30 ปี ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพที่โตโยต้า ก็เป็นอีกกรณี เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาทำงานเกินเวลาไป 106 ชั่วโมง จนทำให้หัวใจล้มเหลว ภรรยาของเขาใช้เวลาต่อสู้นานถึง 6 ปีเพื่อนยืนยันว่า สาเหตุที่ทำให้หัวใจเขาเต้นไม่ปกติจนเสียชีวิต ก็เป็็นเพราะการทำงานหนักเกินไป ศาลนาโกย่าพิพากษาว่า อูชิโนทำงานหนักเกินไป และไม่มีแม้แต่เวลาเล่นกับลูก

ไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ที่ฝรั่งเศส เมื่อปี 2551-2552 พนักงานของฟรานซ์เทเลคอมหรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ออเรนจ์ จำนวน 35 คนฆ่าตัวตาย มีบันทึกของคนงานบอกไว้ว่า ความเครียดจากการทำงานและการบริหารจัดการเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาเสียชีวิต หนึ่งในจดหมายลาตายบอกว่า ทนไม่ไหวแล้วกับสภาพการทำงาน นอกจากนี้ ตัวแทนสหภาพการค้าคนหนึ่งกล่าวว่า ไม่ว่าคนงานจะไปเข้าส้วม กินข้าว หรือออกไปสูบบุหรี่ ทุกคนต้องใส่หูฟังเชื่อมต่อไวไฟเพื่อให้ตามตัวได้ตลอดเวลาแม้ยามหยุดพัก

ที่จีนก็มีเรื่องแบบนี้ เมื่อคนงาน 14 คน ของฟอกซ์คอนน์ บริษัทผู้ผลิตไอโฟน-ไอแพด ของเครือแอปเปิ้ล ฆ่าตัวตาย หนึ่งในผู้ที่ฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จและกลายเป็นอัมพฤกษ์ กล่าวถึงปัญหาการทำงานอันยาวนานและสภาพโรงงานที่ย่ำแย่ แถมทุกเช้า คนงานจะถูกถามว่าพวกเขาเป็นยังไงบ้าง และทุกคนถูกบังคับใช้ตอบว่า “ดี ดีมาก ดีมากๆ” จากนั้นก็เข้าทำงานวันละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์

แม้กระทั่งเด็กฝึกงานก็รับบทโหดพอกัน โมริตซ์ เออร์ฮาร์ดต์ หนุ่มเยอรมันคนหนึ่งฝึกงานที่แบงค์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ สาขาลอนดอน ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า เด็กฝึกงานในธุรกิจนี้ต้องทำงานมากถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน กรณีของ เออร์ฮาร์ดต์ ต้องทำงานต่อเนื่องกัน 72 ชั่วโมงโดยไม่ได้นอน จนเมื่อเขากลับบ้านและอาบน้ำ ก็เกิดอาการลมชักและเสียชีวิต

ที่อินโดนีเซีย มิตา ดิราน อายุ 24 ปี ทำงานเอเจนซี่โฆษณา มีวิถีชีวิตแบบทำงานดึกตลอดเวลา และมักทวีตถึงตารางงานอันแสนหนักหน่วง และเธอดำรงชีพด้วยเครื่องดื่มบำรุงกำลังเพื่อให้ตาสว่างได้ทั้งคืน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเธอเสียชีวิต เธอทวีตข้อความว่า ทำงานต่อเนื่องไปแล้ว 30 ชั่วโมง แต่ยังไหว ก่อนจะจากไปตลอดกาล

……..

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากข้อเขียนของ  Jessie Lim ใน Straits Times