New "publication": My CV of Failures! https://t.co/d8ot5vvynY
— Johannes Haushofer (@jhaushofer) April 23, 2016
หลักสูตรที่ไม่ได้เข้าเรียน ตำแหน่งวิชาการที่พลาด งานเขียนที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ ฯลฯ รวมอยู่ในประวัติความล้มเหลวของชีวิต ที่โยฮันเนส เฮาส์เฟอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เผยแพร่ทางทวิตเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หลังเขาทำแบบนี้ ปรากฏว่าเกิดกระแสตอบรับจากคนในทวิตเตอร์ ที่พากันหันมาเล่าเรื่องล้มเหลวของตัวเองบ้าง
เฮาส์โฮเฟอร์บอกว่า “ความไม่สำเร็จ” มันก็สำคัญพอๆ กับ “ความสำเร็จ” ในชีวิต และเขาไม่ใช่คนแรกที่ทำบันทึกประวัติเรื่องพังๆ แบบนี้ แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทความในปี 2553 ของ เมลานี สเตฟาน อาจารย์ชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระที่เคยเสนอว่า การแสดงให้เห็นถึงประวัติของการถูกปฏิเสธ จะช่วยเปิดมุมมอง และทำให้คนอื่นสามารถจัดการกับความล้มเหลวได้
ประวัติที่รวมความล้มเหลวของศาสตราจารย์จากพรินซ์ตันแบ่งออกเป็น 6 ส่วน มีทั้งเรื่องหลักสูตรที่ไม่ได้เข้าเรียน ตำแหน่งวิชาการและทุนที่ถูกปฏิเสธ ทุนวิจัยที่ไม่ได้รับ เปเปอร์ที่วารสารวิชาการปฏิเสธ ฯลฯ
เขาเขียนเริ่มต้นในประวัติของเขาว่า ความพยายามส่วนใหญ่ในชีวิตนั้นล้มเหลว แต่ความล้มเหลวนั้นถูกทำให้มองไม่เห็น ส่วนสิ่งที่คนมองเห็นก็มีแต่ความสำเร็จ ทั้งที่ในชีวิตต้องเจอเรื่องล้มเหลวมากกว่าเรื่องที่ทำสำเร็จเสียอีก
เขาสังเกตว่า คนมักมีภาพประทับว่าเขาจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดี แล้วมันก็ทำให้คนส่วนใหญ่ย้อนมองตัวเองว่าตัวเองแย่เองเลยทำอะไรไม่ค่อยได้ ทั้งที่ในความจริงมันมีหลายปัจจัย สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันก็ขึ้นกับจังหวะ การยื่นใบสมัครไปที่ต่างๆ ก็เหมือนเกมเสี่ยงทาย ที่บางที คณะกรรมการพิจารณาอาจจะกำลังมีวันแย่ๆ ก็ได้
หลังศาสตราจารย์คนนี้เริ่มทวีตประวัติแห่งความล้มเหลว ก็ปรากฏว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ ก็เล่นตาม โดยใช้แฮชแท็กว่า #cvoffailures
ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งเขียนว่า งานเขียนด้านวิทยาศาสตร์ที่เขาทำแต่ละชิ้น กว่าจะได้ตีพิมพ์ก็ต้องผ่านการปฏิเสธมาเฉลี่ยชิ้นละ 7 ครั้ง ส่วนอีกคนก็ทวีตว่าการถูกปฏิเสธเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ยืนยันถึงความสร้างสรรค์ การขับเคลื่อน และความดื้อ
เว็บไซต์ Science Alert มองว่า การพูดถึงความผิดพลาดจะช่วยทำลายความรู้สึกแย่ๆ ที่เราก็เคยพลาดโอกาสต่างๆ ในชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจให้คนพยายามมากขึ้น
Science Alert กล่าวถึงการทดลองหนึ่งของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ทดลองแบ่งนักเรียน 400 คนออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกได้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, มารี คูรี, และไมเคิล ฟาราเดย์ กลุ่มแรกจะได้รู้เรื่องราวความสำเร็จ กลุ่มที่สองรู้เรื่องความลำบากในชีวิตส่วนตัว และกลุ่มที่สามรู้เรื่องความล้มเหลวในงานวิชาการและการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ปรากฏว่า นักเรียนกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามที่เรียนรู้เรื่องพังๆ ของชีวิตนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ลงเอยด้วยการทำเกรดได้ดีกว่ากลุ่มแรก
สำหรับเรื่องประวัติความฟังของชีวิตนี้ หลังมีกระแสตอบรับดีเยี่ยม เฮาส์โฮเฟอร์ก็อัพเดทประวัติของเขาเพิ่ม ใส่หมวดความล้มเหลวที่ตามมาในปี 2016 ระบุรายละเอียดว่า ประวัติความระยำของชีวิตนี้ได้รับความสนใจยิ่งกว่างานวิชาการทั้งหมดที่เขาทำมาเสียอีก!
ที่มา: Independent, Science Alert