Site icon Banana Post

เอกสารหลุด TTIP ชี้ความเสี่ยงจากข้อตกลงสหรัฐฯ-อียู

http://ban.jo/News/Europe/20160423/Stop-TTIP-Protest-In-Hanover-Germany-Hanover/

หลักการ “ระวังไว้ก่อน” ที่กำหนดให้ต้องพิสูจน์ให้ชัดก่อนว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่อันตราย อาจถูกยกเลิก หันมาใช้มาตรการ “จัดการความเสี่ยง” หรือให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข

กรีนพีซ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเผยแพร่เอกสารหลุดจำนวน 248 หน้าเกี่ยวกับ “ความตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนภาคพื้นแอตแลนติก – Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ TTIP” ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่กรีนพีซกังวลว่า หากข้อตกลงนี้บรรลุ มาตรฐานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในสหภาพยุโรปอาจถอยหลังลง

สัปดาห์ที่แล้ว การเจรจา TTIP มีขึ้นเป็นรอบที่ 13 แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ พบกับ นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี บนความคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงทั้งหมดให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน แต่ก็มีมวลชนนับพันออกมาประท้วงกันในเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี

ด้านการ์เซีย เบอร์เซโร หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปกล่าวว่า ประเด็นของกรีนพีซที่บอกว่า สหรัฐฯ กำลังผลักดันให้สหภาพยุโรปผ่อนคลายมาตรการการคุ้มครองนั้น เป็นประเด็นที่ผิด และย้ำว่าเอกสารที่หลุดออกมาไม่ได้บอกถึงผลสุดท้ายของข้อตกลง ด้าน เซซิเลีย มัลม์สตรอม ข้าหลวงใหญ่การค้าของสหภาพยุโรปกล่าวว่า สหภาพยุโรปจะไม่ลดมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน

ผู้สนับสนุน TTIP เห็นว่า ข้อตกลงนี้ซึ่งว่าด้วยการค้าบนสองฝั่งมหาสมุทนแอตแลนติก จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย ทั้งนี้ TTIP จะนำไปสู่การผสมผสานและปรับระเบียบและกติกาต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจส่งออกเติบโตขึ้น

ขณะที่ ยอร์โก ริสส์ ผู้อำนวยการกรีนพีซในสหภาพยุโรปกล่าวว่า เอกสารหลุดชุดนี้ จะทำให้บรรษัททั้งหลายได้มีโอกาสเข้าไปเป็นแกนกลางในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบสาธารณสุข

“เรารู้กันแล้วว่า จุดยืนของอียู (สหภาพยุโรป) มันแย่ ตอนนี้เราเห็นได้ว่า จุดยืนของสหรัฐฯ ยิ่งแย่กว่า” ริสส์กล่าว

ส่วนหนึ่งของเอกสารชี้ว่า สหรัฐฯ อยากจะแก้ไข โดยผ่อนคลาย “หลักการระวังไว้ก่อน” (precautionary principle) ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่เกิดอันตรายแน่ๆ แต่เปลี่ยนเป็นหันมาใช้แนวทางจัดการความเสี่ยง (Risk Management) แทน

ตัวอย่างหนึ่งของมาตรฐานที่ต่างกัน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลังเจรจา TTIP เช่น สหรัฐฯ อนุญาตให้ทำเกษตรกรรมพืชพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอจำนวน 170 ชนิด ขณะที่สหภาพยุโรปอนุญาตเพียงแค่เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียว คือ พันธุ์ข้าวโพดเหลืองอ่อน

อีกประเด็นที่ร้อนแรงในข้อตกลง TTIP คือการให้อำนาจบรรษัทต่างๆ สามารถฟ้องร้องรัฐบาลต่างๆ ในศาลภายในประเทศได้ ซึ่งทำให้หลายประเทศในยุโรปต้องเจอความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ และอาจมีผลให้เกิด “ชิลลิ่ง เอฟเฟกต์” (Chilling Effect – ความชะงักและไม่กล้าออกกฎระเบียบ) และบีบให้การคุ้มครองสวัสดิภาพของส่วนรวมต้องอ่อนแอลง

ศูนย์วิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจ หรือ CEPR คาดการณ์ว่า จากข้อตกลงนี้น่าจะเพิ่มรายได้ให้สหภาพยุโรปราว 119 พันล้านยูโร และเพิ่มรายได้ให้สหรัฐ 95 พันล้านยูโร และในการเจรจารอบที่ 13 ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะเจรจาเผยว่าได้ดำเนินการเจรจาว่าด้วยกำแพงภาษีไปกว่าร้อยละ 97 แล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องดำเนินการ เช่น สหภาพยุโรปต้องการให้สหรัฐเปิดตลาดให้ประเทศในยุโรปสามารถเข้าไปแข่งขันในโครงการสัญญาของรัฐ นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ ที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ เช่น ตลาดสินค้าเนื้อวัว ธุรกิจภาคบริการ และมาตรการของสหภาพยุโรปที่คุ้มครองผลิตภัณฑ์ตามภูมิประเทศที่ผลิต (PGI) เช่น แชมเปญ และชีส

ที่มา : BBC
ที่มาภาพ: Instagram @Duha จากเว็บไซต์ Banjo
อ่านเอกสารเกี่ยวกับการเจรจา TTIP ที่เล็ดรอดออกมา

Exit mobile version