แม้หลบหนีภัยสงครามออกมานอกประเทศ แต่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียก็เจอปัญหาเรื่องไม่มีงาน ไม่มีเงิน พบสถิติ 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกว่า 18,000 คนตัดสินใจขายอวัยวะ เช่น ไต กระจกตา เพื่อแลกเงินต่อชีวิต
ยาสเซอร์ (นามสมมติ) อายุ 29 ปี หนีจากสงครามในบ้านเกิดตัวเองที่เมืองฮอมส์ (Homs) ทางตะวันตกของซีเรีย ไปใช้ชีวิตในเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ เขาเจอปัญหาคล้ายผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่หางานทำไม่ได้ทำให้ไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพ ต่อมา เขาได้พบกับนายหน้าเสนอซื้ออวัยวะ จึงตัดสินใจขายไตข้างซ้ายของตัวเองในราคา 3,000 เหรียญดอลลาร์ หรือประมาณหนึ่งแสนบาท การตรวจสุขภาพและผ่าตัดที่เกิดขึ้นในบ้านของนายหน้านั่นเอง
หลังผ่าตัด ยาสเซอร์ย้ายไปเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเขาแบ่งเช่าอพาร์ทเมนท์กับผู้ลี้ภัยจากซีเรียคนอื่นๆ และทำงานในร้านยานยนต์ การผ่าตัดทิ้งร่องรอยทั้งทางกายและทางใจไว้กับตัวเขาตลอดกาล เขาบอกว่า มันคือการตัดสินใจที่แย่ที่สุดในชีวิต
ราคาขายต่างกัน ตุรกีแพงสุด อิรักถูกสุด
ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าการขายอวัยวะลักษณะนี้เกิดขึ้นมากเพียงไร แต่ ฮุสเซน โนฟาล หัวหน้าแผนกนิติเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมาดัสกัส ประเทศซีเรียรวบรวมข้อมูลเท่าที่มี ซึ่งคาดการณ์ว่ามีชาวซีเรียราว 18,000 รายที่ขายอวัยวะของตัวเองในตลอดช่วงสงคราม 4 ปีที่ผ่านมา
เขาพบว่า การค้าขายเกิดขึ้นมากในบริเวณชายแดน จุดซื้อขายและผ่าตัด มักเกิดขึ้นภายในค่ายผู้ลี้ภัยในตุรกีและเลบานอน ก่อนจะนำอวัยวะส่งออกไปยังตลาดโลก
สำหรับราคาของอวัยวะก็หลากหลายไปตามแต่ละพื้นที่ ในตุรกี ราคาของไต 1 ข้างอยู่ที่ราว 10,000 ดอลลาร์ ขณะที่ในอิรัก อาจราคาต่ำลงเหลือเพียง 1,000 ดอลลาร์ ส่วนตลาดราคาไตในเลบานอนและซีเรีย อยู่ที่ราว 3,000 ดอลลาร์ โนฟาล ยังอ้างถึงข้อมูลที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ As-Safir ในเลบานอนเมื่อปีที่แล้วว่าแก๊งซื้อขายอวัยวะทำงานกับหมอชาวซีเรีย ขายกระจกตาข้างละ 7,500 ดอลลาร์ให้ลูกค้าต่างชาติ
ทั่วเมืองดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย มีป้ายโปสเตอร์จำนวนมากเพื่อขอรับ “บริจาค” อวัยวะ ป้ายเหล่านี้มักติดในละแวกโรงพยาบาลหรือร้านขายยา เนื้อหาในป้ายที่มักพบ มักเขียนว่า “ผู้ป่วยกำลังต้องการไตด่วน กรุ๊ปเลือดที่ต้องการคือ O+ วิเคราะห์เนื้อเยื่อแล้วเรียบร้อย ผู้สนใจบริจาค ติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้”
กฎหมายของซีเรียก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะตามกฎหมายแล้ว การบริจาคอวัยวะให้ญาติและคนแปลกหน้าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เมื่อไปตามจับผู้ติดโปสเตอร์เหล่านี้ ผู้เกี่ยวข้องก็มักมายืนยันว่า ที่ทำไปนั้นคือการบริจาค ไม่ใช่ซื้อขาย
นักโทษคือเหยื่ออีกกลุ่มของตลาดมืด
ดร.โมฮัมเหม็ด ออว์แรม (นามสมมติ) คุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเนื้องอกคนหนึ่งเล่าว่า มีหมอด้านผิวหนังมาขอให้เขาตัดอวัยวะของนักโทษฝั่งสนับสนุนรัฐบาลโดยอ้างว่าสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องถูกประหารอยู่ดี และมีผู้ซื้อที่พร้อมจะจ่ายเงินจำนวนมาก เงินเหล่านั้นจะสามารถนำมาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อีกมาก
ดร.ออว์แรมปฏิเสธด้วยเหตุผลทางจริยธรรมวิชาชีพ เขากังวลว่าหากยอมทำเช่นนั้น มันอาจไปสนับสนุนให้มีการจับกุมคนเพียงเพื่อจะเอาอวัยวะ แต่การปฏิเสธไม่ยอมผ่าตัดอวัยวะให้ตลาดมืดทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าทำงานสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
หลังตกเป็นเป้า ดร.ออว์แรมจึงย้ายเมืองไปรักษาคนที่อีกเมืองหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่ก็ยังเป็นเมืองที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มไอเอสเช่นเดิม ที่นั่นเขาพบซากศพจำนวนมากที่อวัยวะภายในหายไป ส่วนที่หายไปมักจะเป็นตับและไต และมีกรณีหนึ่งที่กระเพาะปัสสาวะหายไป
นอกจากปัญหาความรุนแรงจากสงครามการเมืองที่ทำให้คนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศแล้ว การไร้ที่พึ่งจากประเทศรอบข้าง และการไม่มีกลไกป้องกันและให้โอกาสในทางทำงานทำให้ผู้ลี้ภัยเจอปัญหาซ้ำซาก และความยากจนเป็นตัวผลักดันให้ผู้ลี้ภัยกลายเป็นเหยื่อของธุรกิจค้าอวัยวะนี้ด้วย
……………
สรุปความจากรายงานของ Ahmad Haj Hamdo และ Tamer Osman ซึ่งเผยแพร่ในนามกลุ่มสื่ออิสระซีเรีย
ที่มา: Syria Deeply
ภาพจาก: Wikipedia