นักวิชาการสื่อเสนอ “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” ควรแบ่งรายได้ 1% สนับสนุนนักข่าว

เมื่อคนรับสื่อผ่านช่องทางหลักจากตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก แม้ตัวกลางเหล่านี้จะช่วยให้คนเข้าถึงเนื้อหาได้มากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ดูดรายได้จากโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจสื่อออกไปด้วย

Res Publica ซึ่งเป็นหน่วยงาน thinkthank ในอังกฤษเรียกร้องว่า กูเกิล และเฟซบุ๊ก ควรจ่ายค่าเนื้อหาข่าวที่ได้มาจากสื่อสำนักต่างๆ โดยเจียดเงินร้อยละ 1 ของรายได้ มาสนับสนุนงานวารสารศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นงานเชิงสืบสวนสอบสวน ผลงานวารสารศาสตร์ขนาดยาว และสื่อมวลชนท้องถิ่น

Justin Schlosberg นักวิชาการด้านสื่อจากเบอร์เบค มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนเขียนบทความเรื่อง “ภารกิจของสื่อในยุคของการผูกขาด” เผยแพร่ใน Res Publica โดยแสดงความกังวลถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ที่ผันตัวเองมาเป็น “ผู้เฝ้าประตูข่าวสาร” (Gatekeeping) และผู้ขาดอำนาจผ่านการเป็นตัวกลางทางดิจิทัล

เขากล่าวว่าอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ในอังกฤษกำลังฝ่าฟันวิกฤตรายได้ลดลง สื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวทยอยปิดตัว หลายแห่งต้องลดขนาดกองบรรณาธิการซึ่งส่วนที่ได้รับกระทบ คือสื่อมวลชนที่ทำงานในประเด็นสาธารณะ

แต่เมื่อเปรียบเทียบรายได้กันแล้ว สื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก ที่ดึงฟีดเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ กลับได้กำไรเพิ่มขึ้นมาก

ข้อมูลเฉพาะในอังกฤษพบว่า กูเกิลทำรายได้ได้มากกว่า 7 พันล้านปอนด์ในปี 2015 ส่วนเฟซบุ๊ก มีรายได้ 105 ล้านปอนด์ในปี 2014 รายได้ส่วนมากมาจากโฆษณาซึ่งครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

Schlosberg ยืนกรานว่า สัดส่วนรายได้เหล่านี้สามารถนำมาสร้างกองทุนเพื่อช่วยเยียวยาอุตสาหกรรมสื่อในอังกฤษที่กำลังลำบาก

เขากล่าวว่า กูเกิลได้ทราฟฟิกจากเนื้อหาที่มาจากสื่อ แต่แทบไม่ต้องเสียเงินอะไรจากบทความเหล่านั้น ในแวบแรกมันเหมือนจะโอเค เพราะคนอ่านสามารถเห็นต้นทางของเรื่องได้ แต่สำหรับนักวารสารศาสตร์และอุตสาหกรรมสื่อแล้ว นี่เป็นเรื่องอันตราย เมื่อคนเริ่มพึ่งแหล่งข้อมูลเดียวในการอ่านข่าว และถ้าแหล่งข้อมูลหนึ่งเดียวนั้นคือกูเกิลและเฟซบุ๊ก มันไม่ได้มีส่วนสนับสนุนต้นทุนในการสร้างสรรค์งานวารสารศาสตร์ที่พวกเขาใช้เลย

ด้าน ฟิลลิป บลอนด์ (Phillip Blond) กล่าวว่า ชัดเจนว่า การรักษาสื่อมวลชนท้องถิ่นและสื่อมวลชนเชิงสืบสวนสอบสวน ถือเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ และเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กสามารถทำได้โดยแบ่งปันส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องจ่ายอะไรให้กับค่าข่าวที่เขาใช้เลย

นอกจากนี้ บทความของ Schlosberg ยังชี้ว่า การเติบโตขึ้นก็แพลทฟอร์มข่าวที่สร้างการมีส่วนร่วมและการเกิดขึ้นของ “ฐานันดรที่ 5” ก็ไปท้าทายบทบาทเดิมของสื่อที่เคยชี้นำมวลชน เพราะงานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมากชี้ว่าวาระข่าวในโซเชียลมีเดียและบล็อกต่างๆ มีบทบาทในการชี้นำประเด็นสื่อด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือ การมีจำนวนสื่อที่มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดความหลากหลายของเนื้อหา แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งการแข่งขันในตลาดของสื่อรุนแรงมากขึ้นเท่าไร กลับยิ่งทำให้เนื้อหาที่ผลิตออกมามีเนื้อหาเหมือนๆ กัน

…….

เรียบเรียงส่วนหนึ่งจาก:
Roy Greenslade. ‘Make Google and Facebook pay levy to support journalism’ – academic. Guardian. 26 May 2016.

อ่านบทความต้นฉบับ:
Justin Schlosberg. The Mission of Media in an Age of Monopoly. Res Publica. May 2016.

ที่มาภาพ: Carlos Luna