Dogeaters: เรื่องไม่สวยของความสวยในฟิลิปปินส์

 875730 87286100987860L

Dogeaters (1991) โดย Jessica Hagedorn

โดย มิ่ง ปัญหา

“Don’t you think we know there is hunger and poverty still rampant, in spite of all our efforts? We never denied it, okay? People look at me. Because I happen to look great – they assume – they put two and two together – they accuse me of stealing food from children’s mouths. Absurd, di ba?”

นั่นน่ะสิ ความดูดีไปเกี่ยวอะไรกับความอดอยากยากไร้ ตัวละครหญิงชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้กำลังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชาวอเมริกัน เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ เธอพูดมากมายยาวเหยียด พูดถึงสามีเธอ พูดถึงตัวเธอเอง พูดถึงรัฐบาล

เวลาเราพูดว่าความสวยหล่อมันทำร้าย เราอาจจะนึกว่านี่เป็นคำพูดน้ำเน่า เป็นคำพูดเปรียบเทียบ เช่น หล่อบาดใจ สวยแบบที่ขโมยหัวใจใครๆ มากมาย ซึ่งฟังดู ยังไงก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับความอดอยากยากไร้

แต่นวนิยายเรื่อง “Dogeaters” (1990) ของ Jessica Hagedorn นำเสนออีกด้านหนึ่งของความงาม และการสรรค์สร้างตัวตนให้งดงาม ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี คนมีฐานะจึงจะเข้าถึงทรัพยากรที่จะทำสวยหล่อขึ้นมาได้ เมื่อสวยหล่อภาพลักษณ์ดีขึ้นมา สังคมก็ยอมรับ คุณอาจจะได้เป็นดารา นักร้อง นางงาม หรือภรรยาเศรษฐี มีคนรักนับหน้าถือตาเพราะรัศมีเจิดจรัสของคุณ ภาพลักษณ์เหล่านี้เองกลายเป็นเครื่องมือทำให้คนที่อยากจะเลื่อนชนชั้นฐานะ ต้องการจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาตัวเองให้สวยงาม อยากเข้าเมือง อยากเข้าวงการ พอเข้าได้ วงจรอุบาทว์ (และไม่สวย) นี้ก็จะเริ่มใหม่ เพราะ คนเหล่านี้ก็จะดึงคนเข้ามาสู่วงการนี้อีก เพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนสวยกับไม่สวยต่อไปอีก ยิ่งทำ ก็ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ สร้างเส้นแบ่งระหว่างคนต่อไป ว่าใครอารยะ ใครป่าเถื่อน

ฉากหลังในเรื่องอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ กินเวลาตั้งแต่ช่วงปี 1950 เรื่อยไปจนถึงสมัยต้น 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์ประกาศเอกราชจากอเมริกาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตัดขาดจากอเมริกาได้ สัญญาอันไม่เป็นธรรมที่ลงนามกันไว้ช่วงต้นทศวรรษ 1950 ทำให้สินค้าส่งออกจากฟิลิปปินส์ถูกควบคุม แต่สินค้าจากอเมริกานั้นเข้ามาถึงตลาดฟิลิปปินส์ได้แทบไม่จำกัด รวมไปถึงสื่ออเมริกันที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมฟิลิปปินส์ ช่วงทศวรรษ 1950 ในอเมริกา คือช่วงเวลาหลังสงครามที่ขนบรักต่างเพศกลับมา พร้อมกับการประกวดความงามต่างๆ ที่ยกเลิกไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ฟิลิปปินส์เองก็ได้รับการประกวดนางงามมาจากอเมริกา สื่อในช่วงเวลานี้จึงเต็มไปด้วยการนำเสนอขนบรักต่างเพศ การนำเสนอความงามแบบดาราต่างชาติ การชื่นชมวัฒนธรรมอเมริกัน อันนำมาสู่การเหยียดคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ตัวละครบางตัวมองว่าตัวเองไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ หรือภูมิใจที่ตัวเองจมูกโด่งเหมือนฝรั่ง

นอกจากบรรยากาศของยุคสมัยนี้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามซึ่งมาจากวัฒนธรรมอเมริกัน ยุคสมัยนี้ยังเต็มไปด้วย “ความสงบเรียบร้อย” เพราะประธานาธิบดีมาร์กอสได้ตั้งกองกำลังพิเศษเพิ่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นควบคู่กับความงามนั้น เกิดจากการจับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาลงโทษ จับเข้าค่ายกักกัน จับทรมานให้คายความลับ ตัวเรื่องนำเสนอให้เห็นว่า ความงามที่เป็นฉากหน้านั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความงามถูกใช้ทั้งปกปิดและสนับสนุนอำนาจเหล่านั้น รวมทั้งเป็นที่สนองและบำรุงบำเรอผู้อยู่ในอำนาจ ผู้หญิงสวยๆ ก็ไม่วายจะต้องพักพิงอิงอาศัยและเผลอๆ จะสนับสนุนอำนาจเหล่านี้เพื่อให้เธอได้สวยต่อไป

แน่นอนว่า เรื่องนี้มีตัวละครมากมายที่ตั้งคำถามกับอุดมการณ์เหล่านี้ ขณะที่มีตัวละครที่เสวยสุขอยู่กับโลกอันสวยงามที่มาจากเงินของตัวเองที่ไหลเวียนกันอยู่ในพวกพ้องของตนเอง รวมไปถึงการทุจริตฉ้อโกง ตัวละครอีกกลุ่มที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นดวงดาวเหล่านั้นก็เปิดโปงความอดอยากยากแค้น และความลำบากลำบนของการทำงานตามความฝันลมๆ แล้งๆ เหล่านั้น รวมถึงตัวละครรักเพศเดียวกัน ที่ปรากฏอยู่บ่อยๆ เพื่อตั้งคำถามความคิดเกี่ยวกับเพศสถานะ

คำว่า Dogeaters เดิมนั้นเป็นคำที่ชาวตะวันตกใช้เรียกคนเผ่าหนึ่งในฟิลิปปินส์ ต่อมา กลายเป็นว่าคำนี้เป็นคำที่คนฟิลิปปินส์คนหนึ่ง (ซึ่งเป็นญาติห่างๆของนักธุรกิจใหญ่ และชอบอ้างตัวว่าเป็นญาติ นามสกุลเดียวกัน) เรียกพนักงานทำความสะอาดของตัวเอง เพราะเขามาจากเผ่าป่าเถื่อน Hagedorn ให้สัมภาษณ์ [1] และบอกว่า สำหรับเธอ การกินหมาคือการสู้ชีวิต เป็นอุปลักษณ์ของความทารุณของชีวิตในฟิลิปปินส์ เป็นวิธีเผชิญหน้ากับวัฒนธรรม สำหรับเธอ ทุกคนก็เป็นคนป่าเถื่อน หรืออย่างน้อยก็มีพวกกินหมาซ่อนอยู่ในตัวกันทั้งนั้น เธอพูดอีกด้วยว่า ประเด็นกินหมาในปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์สะท้อนความคิดเรื่องชนชั้นอย่างชัดเจน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เนื้อหมานั้นหาซื้อได้ในเมืองแต่ไม่ขายในร้านอาหารดีๆ

Author_JESSICA_HAGEDORN_SF_1975
       Jessica Hagedorn ผู้เขียน                     (ภาพจาก Wikipedia)

เราอาจบอกได้จากบทสัมภาษณ์ของ Hagedorn ว่า การกินหมาก็เป็นวิธีใช้ชีวิตวิธีหนึ่ง แม้การกินหมาจะถูกมองว่าน่าเกลียด แต่มันเป็นอาหารที่คนส่วนหนึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยวิธีนั้น มุมมองที่มีต่อการกินหมาก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำและอคติของผู้คน ความไม่สวยหรือความน่าเกลียดที่แท้จริงก็คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านและต่อสู้มิใช่หรือ แต่ก็น่าเศร้าถ้าจะมีใครมองว่า โลกนี้มีแต่การต่อสู้ แก่งแย่ง แน่นอนว่าความผิดไม่ได้อยู่ที่พวกเขา แต่อยู่ที่ความไม่เท่าเทียมที่ต้องค่อยๆ แก้ไขด้วยกฎหมาย ด้วยรัฐบาล

ดูเหมือนเรื่องนี้ย้อนมาถามเราเช่นกันว่า ในโลกแห่งการต่อสู้ ในโลกแห่งความเจ็บปวด ในโลกแห่งการฝืนใจ ความรักอยู่ที่ไหน และเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร เรื่องไม่ได้ตอบ แต่เรื่องบอกว่า อยากให้เรายอมรับว่าเราเองคือสิ่งที่เรานิยามคนอื่น เราควรเห็นคุณค่าของคนที่สู้ชีวิตเพราะความไม่เท่าเทียมในสังคม ไม่ใช่เรียกเขาด้วยคำน่ารังเกียจ หรือคำน่ารังเกียจนั้น แท้จริงก็ไม่ได้น่ารังเกียจแต่อย่างใด

ทุกคนต้องสู้ต่อไป และต้องสู้ด้วยกัน

 

………………………
[1] Ameena Meer. Artist in Conversation: Jessica Hagedorn. BOMB. No.34 (1991). http://bombmagazine.org/article/1398/