Site icon Banana Post

4 มิ.ย. “เทียนอันเหมิน” จากเหตุนองเลือดสู่ “สงครามช่วงชิงความทรงจำ”

วันนี้ (4 มิ.ย.) เป็นวันครบรอบ 27 ปีของเหตุการณ์นองเลือดที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งผู้คนนับแสนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและขอให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในระหว่างวันที่ 15 เม.ย. – 4 มิ.ย. 1989 แต่ก็ถูกรัฐบาลจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง สั่งปราบปรามรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล

แม้เวลาผ่านไปนานแล้ว การต่อสู้ยังทิ้งร่องรอยมาจนปัจจุบัน แต่เปลี่ยนรูปแบบ เป็นสงครามการช่วงชิงความทรงจำ เมื่อฝ่ายหนึ่งอยากจำ แต่อีกฝ่ายบังคับให้ลืม

ทุกวันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนิยามให้การอภิปรายและการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อาจเพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดการตั้งคำถามต่ออำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้แม้จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการไต่สวนคดีการตาย กระทั่งจำนวนตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่ชัดเจนก็ยังเป็นปริศนา

แต่แม้จะเผชิญความกดดันอย่างมาก ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ยังรวมตัวกันในนามกลุ่มรณรงค์ “แม่เทียนอันเหมิน” หรือ Tiananmen Mothers ซึ่งเมื่อวันพุธ (1มิ.ย.) เพิ่งเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกย้ำว่า ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา สมาชิกของกลุ่มถูกสอดแนม กักขัง และข่มขู่ จากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เพื่อจะปกปิดการฆาตกรรมครั้งนั้น

ติง ซิหลิน (Ding Zilin) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา อายุ 79 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “แม่เทียนอันเหมิน” ลูกชายวัย 17 ปีของเธอที่ถูกยิงเข้าที่หัวใจในเหตุการณ์นั้น จากวันนั้นจนวันนี้ มีสายสืบตามมาตรวจบ้านอย่างต่อเนื่องตลอด 27 ปี และในสัปดาห์นี้ มีกระแสในโซเชียลมีเดียว่า บ้านของเธอถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ และให้ใช้แต่โทรศัพท์มือถือรุ่นพิเศษที่ติดต่อได้เพียงสายด่วนฉุกเฉินไม่กี่เบอร์ที่ทางการจัดไว้ให้

ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทม์สามารถโทรศัพท์ไปหาติงได้ เธอรับสายแต่รีบปฏิเสธที่จะคุยพร้อมบอกว่า มีคนมาเฝ้าที่ประตูบ้านอยู่ ซึ่งดูเหมือนถ้าเธอต้องการติดต่อโลกภายนอกก็ต้องใช้วิธีการพิเศษ

แน่นอนว่า เรื่องราวเหล่านี้ส่งผลต่อญาติของเหยื่อทั้งทางกายและใจ แต่จุดยืนของกลุ่มแม่เทียนอันเหมินประกาศว่า จะไม่ยอมเงียบจากความผิดปกติอันน่ารังเกียจนี้ เพราะชีวิตไม่เหลืออะไรให้ต้องกลัวอีก และจะมองข้ามแรงกดดันทั้งปวง เดินหน้าหาความจริง ความรับผิดชอบ และการชดเชย

นักเคลื่อนไหวและญาติผู้เสียชีวิตให้ความสำคัญกับการรำลึกและจดจำฝันร้ายในอดีต ปู่ หยงซู่ (Bu Yongzhu) นักเคลื่อนไหวจากมณฑลกวางตุ้งกล่าวว่า เธอกลัวว่าคนรุ่นหลังจะลืม หรือไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว  อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนนี้ของทุกปี โดยเฉพาะในวันที่ 4 มิ.ย. เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ ซึ่งวลี “June 4th, Never Forget” หรือ “4 มิ.ย. ไม่ลืมเลือน” ถูกย้ำเตือนผ่านป้ายกระดาษและเสื้อยืด

ด้านรัฐบาลจีนจะคอยสอดส่องและติดตามนักเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (31 พ.ค.) มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 3 คนถูกจับกุมในปักกิ่งเพราะไปเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกซึ่งจัดขึ้นกลุ่มเล็กๆ ในบ้านของสมาชิกคนหนึ่ง พวกเขาถูกติดตาม และมีหลักฐานเป็นรูปถ่ายที่มีข้อความว่า “อย่าลืมบาดแผลของชาติ”

ยังมีกรณีที่ชายคนหนึ่งถูกจับกุม เพราะไปแชร์ภาพถ่ายในโลกออนไลน์ เป็นภาพของขวดเหล้า ที่ฉลากเป็นรูปรถถังกำลังเข้าบดขยีประชาชน และมีชื่อยี่ห้อที่ออกเสียงมาเป็นเสียงพ้องกับเลข 8964

ยิ่งกว่านั้น พิพิธภัณฑ์เทียนอันเหมิน ในฮ่องกง ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2012 ก็กำลังส่อแววจะถูกปิดในไม่ช้าภายในปีนี้ เจ้าของสถานที่อ้างว่า ทางพิพิธภัณฑ์ทำผิดกฎที่สัญญาว่าจะใช้ที่ของอาคารไปสำหรับเป็นตึกสำนักงาน แต่สาธารณะชนต่างเคลือบแคลงใจว่าเหตุผลที่แท้จริงน่าจะเป็นเรื่องการเมือง ที่ทางการจีนอยู่เบื้องหลังการกดดันครั้งนี้

นอกจากนี้ GreatFire องค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานจับตาการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของรัฐบาลจีนเพิ่งพบว่า เว็บโซเชียลมีเดีย Tumblr ถูกปิดกั้นการเข้าถึงมาตั้งแต่เมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมานี้เอง แม้จะไม่รู้เหตุผลของการปิด ซึ่งความเป็นไปได้หนึ่งคือเพื่อแก้ปัญหาการส่งต่อคลิปลับทางเพศที่เพิ่งเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต แต่ในช่วงนี้ของทุกปี ก็เป็นเทศกาลกวาดล้างอินเทอร์เน็ต ที่รัฐบาลจีนจะคอยตรวจตราโซเชียลมีเดียและระบบค้นหาออนไลน์ เพื่อจำกัดข่าวสารและการสนทนาก่อนวันครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมินด้วย

ด้านอัลเบิร์ต โฮ ประธานสหพันธ์ฮ่องกงเพื่อการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดกิจกรรมรำลึกที่วิกตอเรียพาร์คทุกๆ วันที่ 4 มิ.ย. กล่าวว่า รัฐบาลจีนกำลังเล่นเกมรอเวลา โดยหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งที่สมาชิกครอบครัวเหล่านี้ตายจากไป ผู้คนจะลืมเลือน แต่เขาเชื่อว่า ความทรงจำที่ผู้คนมีร่วมกันในเหตุการณ์ที่ปักกิ่งมันยังคงอยู่

……
ที่มา:

ที่มาภาพ: Max Froumentin

Exit mobile version