Snapchat จะพาเราสู่ “โลกหลังอักษร”?

บทความจากการ์เดียน ซึ่งเขียนโดยJohn Naughton ตั้งข้อสังเกตและทำความเข้าใจว่า ทำไมแอปพลิเคชันอย่าง Snapchat จึงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี และมันเป็นสัญลักษณ์บอกว่าเรากำลังมุ่งสู่อนาคตแห่งโลก “หลังอักษร” (post-literary) หรือไม่

ฟังก์ชันพื้นฐานของแอป “สแนปแชต” คือ เอาไว้แชตกัน จุดเด่นคือมันใช้วิธีโต้ตอบกันด้วยภาพ เรากด “snap” (คำแทนเสียง “แชะ” เวลากดชัตเตอร์ ที่คิดขึ้นโดยบริษัทผลิตกล้อง Kodak) อาจเติมฟิลเตอร์ให้พอขำ แล้วกดส่ง เมื่อภาพถึงปลายทางแล้ว ข้อมูลต่างๆ จะถูกทำลายอัตโนมัติหลังผู้รับกดอ่านไม่กี่วินาที

คนที่ไม่เล่นคงไม่เข้าใจว่ามันทำงานยังไง เหมือนที่เราก็ไม่ทันตั้งตัวว่าเมื่อไรกันนะที่เราโอเคที่จะให้โลกดิจิทัลจัดการความทรงจำให้เรา ยอมให้ภาพเห่ยๆ ที่เคยถูกแท็กเมื่อห้าปีก่อนในเฟซบุ๊กมันวนกลับมาอยู่อย่างนั้น สแนปแชตก็ออกมาสู้กับความทรงจำดิจิทัลแบบนี้ และดูเหมือนจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้วัยรุ่นหันมาใช้แอปนี้กันอย่างแพร่หลาย

Evan Spiegel ผู้บริหารสแนปแชตบอกว่า คนไม่เข้าใจวัยรุ่นว่าทำไม๊ วันๆ หนึ่งจึงถ่ายรูปจำนวนมากมาย แต่หารู้ไม่ ที่จริงแล้ว เด็กๆ ไม่ได้ถ่ายรูปเพื่อเก็บความทรงจำ แต่กำลังพูดคุย ดังที่พวกเขาออกแบบแอปโดยผสมคำของคำว่า สแนป (แชะ) กับ แชต

Orren Soffer นักวิชาการชาวอิสราเอล มองสแนปแชตลึกไปกว่านั้น มองว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่จำลองการคุยตามแบบที่เราทำกันปกติ คือ ภาพและเสียงมันปรากฏมาแล้วก็จางหายไป ซึ่งสแนปแชตก็สัญญากับผู้ใช้ว่าจะลบข้อมูลทั้งหมดออกไปจากระบบด้วย

แง่หนึ่งมันก็คือการท้าทายลักษณะพื้นฐานของสื่อใหม่ที่คอยทำหน้าที่บันทึกข้อมูลทั้งหลาย

John Naughton ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า ป่านนี้ ถ้านักวิชาการสื่อ Neil Postman ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงออกมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์แชตด้วยการแชะแน่ๆ เพราะเขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการสายที่เชื่อว่าเทคโนโลยีการสื่อสารมีอิทธิพลในการก่อรูปสังคม ดังเช่น ในหนังสือของเขาที่ชื่อ The Disappearance of Childhood หรือ การสูญสลายของวัยเด็ก เขาเห็นว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ทำให้ช่วงเวลาวัยเด็กยาวนานขึ้นกว่าจะไปถึงจุดที่เรียกได้ว่ามีความสามารถทางการสื่อสาร วัยเด็กในสมัยเทคโนโลยีการพิมพ์ดูจะยาวกว่าสมัยวัฒนธรรมมุขปาฐะ จนต่อมาเมื่อโทรทัศน์เข้ามาเป็นสื่อที่มีอิทธิพลนั้นเองที่ความเป็นเด็กหดสั้นลงจบที่วัยสามขวบ เพราะเด็กวัยแค่นั้นก็สามารถที่จะเข้าใจรายการยอดนิยมทางทีวีได้

จากมุมมองที่เชื่อว่าอิทธิพลต่อเทคโนโลยีสื่อที่มีต่อสังคม มันจึงเป็นเหตุให้คนจมอยู่กับเรื่องที่ว่า อินเทอร์เน็ตจะทำงานส่งผลต่อ สมองของเรา ขอบเขตความสนใจ พฤติกรรมทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างไร นั่นจึงทำให้บทความนี้มองว่า สแนปแชตอาจจะพาให้เราเข้าสู่ “โลกหลังอักษร” ซึ่งมีลักษณะแบบยุคมุขปาฐะในยุคกลางหรือไม่

ที่มา:

Naughton, John. “Is Snapchat the Sign of a Post-Literary Future?” The Guardian, March 12, 2017, sec. Opinion. https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/mar/12/snapchat-sign-of-post-literary-future.

ที่มาภาพ: Maurizio Pesce