หมอจีน-อิตาลีเตรียมทีม “ปลูกถ่ายลำตัว” คาดได้ผ่าตัด 2017 นี้

ในปี 2017 นี้ แพทย์จากจีนและอิตาลีมีแผนจะผ่าตัดปลูกถ่ายร่างกายให้ผู้ป่วยชาวรัสเซีย แต่การผ่าตัดใหญ่ที่ต้องเชื่อมหัวเข้ากับร่างกายร่างใหม่นี้ ยังสร้างคำถามคาใจทางจริยศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกมาก

วาเลรี สปีริโดนอฟ โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซียวัย 30 ปีที่ป่วยเป็นโรค Werdnig-Hoffman disease ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น เขาอาสาเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายลำตัว ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2017

ดร. เหริน เสี่ยวผิง ศัลยแพทย์ด้านกระดูกของมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์บิน ประเทศจีน และดร.เซอร์จิโอ คานาเวโร นักประสาทชีววิทยาจากสถาบันทฤษฎีและการทดลองทางชีวฟิสิกส์ในประเทศอิตาลี ทำงานร่วมกันในเคสนี้ในโครงการ HEad Anatomosis VENture หรือ HEAVEN

การปลูกถ่ายร่างใหม่เข้ากับหัว เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกโต้แย้งกันหนัก เพราะในทางการแพทย์มองว่ามันเป็นการผ่าตัดที่ยากมากและไม่ยั่งยืน ทั้งยังมีข้อกังวลทางจริยศาสตร์และความท้าทายแนวคิดเกี่ยวกับความรู้สึกตัว

ดร.เหริน เคยเข้าร่วมการผ่าตัด “มือ” ครั้งแรกของโลกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1999 เขายังมีประสบการณ์อีกมากกว่า 1,000 ครั้งในการผ่าตัดตัวหนู หมู และลิง เข้ากับหัวใหม่ แต่สัตว์เหล่านั้น เช่น หนู มีชีวิตต่อหลังผ่าตัดเพียงแค่ไม่กี่นาที เขายังทดลองไปเรื่อยๆ และกำลังมีแผนจะปลูกถ่ายร่างกายโดยจะเริ่มผ่าตัดเมื่อทีมงานมีความพร้อม อย่างไรก็ดี มันเป็นการผ่าตัดที่ถูกมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างน้อยในเวลานี้ เพราะการเชื่อมต่อเส้นประสาทไขสันหลังเป็นเรื่องแสนยาก และหากพลาดก็หมายความว่าคนไข้ต้องเสียชีวิต

ตามแผน จะต้องถอดหัว 2 หัว ออกมาจากร่าง 2 ร่าง เชื่อมต่อเส้นเลือดระหว่างร่างกายของผู้ตายกับหัวของผู้รับร่าง สอดแผ่นโลหะเผื่อเสริมความมั่นคงให้คอใหม่ เชื่อมปลายประสาทไขสันหลังด้วยสารคล้ายกาวที่จะช่วยปลูกถ่ายเส้นประสาท จากนั้นก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายคือการเย็บแผล

แต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์กังวลกันว่า วิทยาการยังไม่พร้อมขนาดที่จะปลูกถ่ายร่างกายได้ ดอกเตอร์ฮวง จีฟู อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุขของจีนกล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์ เมื่อประสาทที่ไขสันหลังถูกตัด มันไม่มีทางเชื่อมต่อได้

ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนทุ่มเงิน 216 พันล้านดอลลาร์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนา ขณะเดียวกัน จีนก็ถูกวิจารณ์ว่า ยังขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการทดลองทางการแพทย์ แม้กระทั่งนักวิจัยในจีนเองก็ยังรู้สึกว่างานวิจัยต่างๆ มันไปไกลและไปเร็ว

ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น ในเมืองกวางโจว ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนยีนส์ในเอ็มบริโอที่เป็นสาเหตุของโรคธาลัสซีเมียโดยใช้เทคนิคที่พัฒนาในสหรัฐอเมริกา การทดลองนี้ก้าวข้ามเส้นจริยศาสตร์ คือ แม้การทดลองนี้จะใช้เอ็มบริโอที่พัฒนาต่อไปเป็นชีวิตไม่ได้แล้ว (unviable embryos) แต่หากต่อยอดการค้นพบนี้ออกไป แล้วเปลี่ยนถ่ายเอ็มบริโอที่ปกติดี มันจะนำไปสู่การปรับแต่งยีนส์แบบถาวรเพื่อให้ได้สิ่งมีชีวิตที่ออกมาดูดีหรือฉลาด

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากวงการวิทยาศาสตร์ว่า การทดลองเหล่านี้ยังไม่มีฉันทามติด้านจริยธรรมในงานประเภทนี้ ทีมวิจัยจากกวางโจวเห็นว่า ถึงอย่างไร เรื่องสำคัญเชิงเทคนิคก็จำเป็นต้องได้รับการศึกษาและพิสูจน์ ซึ่งหากคิดตามหลักจริยศาสตร์แล้ว ทางทีมก็ไม่ได้สนับสนุนให้ปรับแต่งเอ็มบริโอที่ปกติ จนกว่ามันจะผ่านการประเมินที่เข้มงวดและละเอียด และผ่านการถกเถียงจากชุมนุมนักวิจัยและนักจริยศาสตร์ทั่วโลก

นอกจากนี้ นักวิจัยจากจีนเองก็ตกเป็นเป้าที่ถูกตั้งแง่จากนานาชาติในเรื่องจริยธรรมในศาสตร์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะเรื่องการใช้อวัยวะของนักโทษประหาร ซึ่งจีนออกมาแก้ตัวว่าเดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว แต่ก็ยังปรากฏว่ามีหมอที่ส่งงานวิชาการไปเสนอในเวทีนานาชาติ โดยที่ยังใช้อวัยวะของนักโทษมาทดลองอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากมาตรฐานจริยธรรมสากล ทำให้ในปีนี้ ประชาคมนานาชาติว่าด้วยการปลูกถ่ายหัวใจและปอดเผยว่า ต้องปฏิเสธงานวิจัยของทีมชาวจีนที่เสนอมาในงานประชุมประจำปีที่วอชิงตัน

นักวิทยาศาสตร์และนักจริยศาสตร์ของจีนบางส่วนมองว่า ข้อกังวลจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ออกจะเวอร์เกินไป และเห็นว่าคนเหล่านั้นอิจฉาที่จีนประสบความสำเร็จในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับ ดร.เหริน เขามองว่างานผ่าตัดปลูกถ่ายร่างเป็นงานยากมาก ไม่ว่ามันจะถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่ มันคือชีวิตของคน “ไม่มีอะไรสูงส่งยิ่งไปกว่าการมีชีวิต และนั่นคือแก่นของหลักจริยธรรม”

จากคำให้สัมภาษณ์ของดร.คานาเวโรเมื่อเดือนพ.ค. บอกกับ Sputnik ว่าการผ่าตัดน่าจะมีขึ้นในปี 2017 ที่ประเทศจีน แต่ล่าสุด เขาให้ข่าวอีกครั้งว่า เขาได้ยื่นคำร้องไปกับทางเยอรมนีเพื่อขอความช่วยเหลือให้สามารถดำเนินการผ่าตัดภายในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางการแพทย์และเทคโนโลยีมานานนับศตวรรษ

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่สับสน เพราะขณะที่การผ่าตัดดังกล่าวอ้างว่าจะเป็นการผ่าตัดลำตัวกับหัวเป็นครั้งแรกในโลก แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ก็มีการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวได้สำเร็จ และก็อ้างว่าทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกด้วย ผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นชาวอเมริกันที่เป็นมะเร็งกระดูก แล้วเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวในโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ซึ่งกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติทางการแพทย์ไม่เคร่งครัด

ที่มา:

ที่มาภาพ : Global Times