โดย Panicha Pan
เราไม่ใช่คนเก่งเลข แต่พล็อตเรื่องของหน่วยสืบสวนสอบสวนที่นำเอาหลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์มาใช้เพื่อหาตัวคนร้ายทำให้เราสนใจการ์ตูนเรื่อง “สืบคณิต พิชิตคดี กับ มิโคะชิบะ กาคุโตะ” ผลงานของ คามินากะ มานาบุ เพราะอยากรู้ว่าทฤษฎีทางคณิตศาสตร์กับอาชญากรรมจะมาเกี่ยวข้องกันได้ในรูปแบบไหน
ฉากหลักของเรื่องนี้เกิดขึ้นในห้องทำงานชั้นใต้ดินของกรมตำรวจ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “หน่วยวางมาตรการสืบสวนสอบสวนพิเศษ” หน่วยงานใหม่ที่แม้แต่คนในกรมตำรวจเองก็ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก และเลือกที่จะตัดสินเอาจากเท่าที่รู้ว่าเป็นหน่วยที่ไร้ค่ามองไม่เห็นความก้าวหน้าใดๆ ในอาชีพ
สมาชิกของหน่วยงานนี้มีทั้งหมด 3 คน คือ คอนโนะ มิจิโนะริ ตำรวจสายสืบมือเก๋าที่ขึ้นชื่อเรื่องการสอบปากคำผู้ต้องหา นีสึมะ โทโมะกิ ตำรวจสาวที่เพิ่งพ้นจากช่วงถูกพักงาน 1 เดือน โทษฐานมีเรื่องกับเพื่อนร่วมงานเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงข่มขู่ให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ และ มิโคะชิบะ กาคุโตะ นักคณิตศาสตร์ที่มีงานหลักเป็นรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชื่อดัง กุญแจสำคัญของหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นแผนกนี้
ความรู้สึกของเราขณะอ่านเรื่องนี้ก็เหมือนกับตัวนีสึมะ ที่ไม่เข้าใจว่า ทฤษฎีที่ว่ากันด้วยตัวเลขนั้นจะมาเกี่ยวข้องกับการรีดเค้นความจริงจากคนร้ายได้อย่างไร เพราะดูเหมือนเป็นสองเรื่องที่ดูไม่มีอะไรสัมพันธ์กัน รู้แต่ว่าหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้การสอบสวนผู้ต้องหาเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมยิ่งขึ้น
นี่พูดกันแค่เรื่องทฤษฎีเท่านั้นนะยังไม่ได้พูดถึงบุคลิกของมิโคะชิบะ ที่ดูเป็นมิตรกับแมวมากกว่ากับคนและติดอมอมยิ้มตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่ใช้ความคิด
แต่เมื่อได้เข้าไปอยู่ในห้องสอบสวนกับทั้งมิโคะชิบะและนีสึมะนานขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านอย่างเราก็จะค่อยๆ มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งยังพยายามทำความเข้าใจกับทฤษฎีความน่าจะเป็นและตารางแมทริกซ์แสดงผลตอบแทนไปพร้อมๆ กับตัวนีสึมะ
(สารภาพว่าเราอาจจะหัวช้ากว่านีสึมะ เพราะบางครั้งก็ต้องอ่านซ้ำ 2-3 รอบกว่าจะเข้าใจทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่มิโคะชิบะอธิบายมา)
แต่พออ่านจนเข้าใจแล้วก็จะเริ่มเห็นด้วยกับมิโคะชิบะตรงที่ว่าเพราะมนุษย์มีทั้งกิเลสและอคติ การเอากฎเกณฑ์ที่ปราศจากอคติเข้ามาจับจะให้ทำเรามองเห็นความจริงได้ชัดขึ้น
ในห้องสอบสวนที่มีทีมจากหน่วยวางมาตรการสืบสวนสอบสวนพิเศษเป็นฝ่ายสอบปากคำ การพูดความจริงคือทางออกที่ดีที่สุด ทั้งสำหรับคนที่ทำผิดและไม่ได้ทำผิด
แต่ในชีวิตจริงที่เราไม่ได้เจอแต่คนอย่างมิโคะชิบะ นีสึมะ และคอนโนะ ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่า “แค่พูดความจริงก็พอ” ซึ่งเป็นประโยคที่ตัวการ์ตูนในเรื่องบอก แล้วจะทำให้เรารอดจากความผิดที่ไม่ได้ทำได้เสมอไปหรือเปล่า
ที่มาภาพ: https://www.tumblr.com/search/kakuritsu-sousakan-mikoshiba-gakuto