40 ปี เทรนด์ “พึ่งพาตัวเอง” รอด-ไม่รอด

The Complete Book of Self-Sufficiency

เมื่อ 40 ปีก่อน “จอห์น ซีมอร์” (John Seymour) เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ที่สร้างแรงบันดาลใจถึงการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า นำเสนอแนวคิดให้คนใช้ชีวิตบนหลักการพึ่งพาตัวเอง หนีจากชีวิตเมืองไปสู่ไร่นา

The Complete Book of Self-Sufficiency หรือ หนังสือฉบับสมบูรณ์ว่าด้วยการใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเอง เผยแพร่ช่วงทศวรรษ 1960-1970 กลายเป็นไบเบิลของแนวคิดนี้ และได้จูงใจให้ผู้คนนับพันเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองกลับไปใช้ชีวิตแบบ “ดั้งเดิม” กล่าวคือ พึ่งพาโลกภายนอกให้น้อยลง เพื่อเป็นอิสระจากสังคมอุตสาหกรรม แล้วกลับไปไร่นา ทำการเกษตรพึ่งพาตัวเอง

แคลร์ เบตส์ (Claire Bates) คอลัมนิสต์ของบีบีซี เล่าถึงชีวิตของผู้เขียน “จอห์น ซีมอร์” ผ่านคำบอกเล่าของลูกสาวของเขา “แอน เซียร์ส” (Anne Sears)

ตัวซีมอร์เองก็เอาหลักการของเขามาปฏิบัติในชีวิตจริง โดยเช่าที่ทำฟาร์มในเขตซัฟเฟิล์ก (Suffolk) ที่อีสต์แองเกลีย ประเทศอังกฤษ หันมาขี่ม้าขี่เกวียนแทนขับรถ หนังสือของเขายังเชิญชวนผู้คนให้หันมาใช้ชีวิตตามอย่างเขา และยังเป็นแรงบันดาลใจของซิทคอมของบีบีซีเรื่อง The Good Life ด้วย หลักคิดของเขาดูจะสอดรับกับปัญหาวิกฤตน้ำมันทั่วโลก กระแสการประท้วงของชาวเหมืองในอังกฤษ ที่ยิ่งทำให้คนตระหนักว่าชีวิตของเขาต้องพึ่งพาพลังงานธรรมชาติแค่ไหน อีกทั้งกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ทำให้คนคำนึงถึงธรรมชาติมากขึ้น

แต่แอนบอกว่า “ฉันได้พบกับผู้คนที่บอกว่า พ่อได้ทำลายชีวิตพวกเขา”

ลูกสาวของเจ้าพ่อแห่งการพึ่งพาตนเองเล่าด้วยว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจแยกทางจากสามีและทิ้งลูกๆ หลังอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะอยากเอาชีวิตตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ พ่อแม่ของเธอก็ปล่อยให้เธอทำอย่างที่อยาก แต่ต่อมา แม่ของแอนพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมแล้วจัดการกับชีวิตตัวเอง

ในทศวรรณที่ 60-70 ชุมชนทางเลือกเกิดขึ้นมากมายในอังกฤษ แต่คนส่วนใหญ่ที่เลือกเอาชีวิตกลับไปหาเรือกสวนไร่นาก็ต้องพบว่า การใช้ชีวิตแบบใช่แรงงานนั้นไม่ง่ายเลย แอนบอกว่า วิถีแบบนั้นมันยากกว่าที่พวกเขาคิด ชุมชนแนวพึ่งพาตัวเองจำนวนหนึ่งล้มหายตายจากไป แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่รอดจนปัจจุบัน เช่นที่ ลอรีสตัน ฮอลล์ (Laurieston Hall) ในสกอต์แลนด์ หนึ่งในสมาชิกคือ “แพทริก อัพตัน” ซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปลายๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ลอรีสตันเมื่อปี 1973 เพราะไปเจอโฆษณาในนิตยสารไทม์เอาท์ สมัยนั้นเขาเป็นครูฝึกสอนอยู่ในลอนดอน

แพทริก อัพตัน บอกว่า ตอนนั้น ทุกคนในลอรีสตันส่วนใหญ่ไม่มีทักษะทางการเกษตร ขาดความรู้เกี่ยวกับโรคพืช และไม่รู้ว่าจะจัดการกับระบบประปายังไง

pig1

ในหนังสือของจอห์น ซีมอร์ ให้ข้อมูลรายละเอียด เช่น วิธีการพรวนดิน รวมถึงวิธีการฆ่าหมู หนังสือนี้ขายได้นับล้านฉบับ

ทุกวันนี้ ชุมชนพึ่งพาตัวเองอย่างลอรีสตันยังดำเนินอยู่ ปัจจุบันบนพื้นที่ 135 เอเคอร์ มีวัว หมู ไก่ และผึ้ง ในชุมชนปลูกผักและผลไม้กินเอง ใช้น้ำในลำธารสำหรับการขับถ่ายและอาบน้ำ น้ำจากน้ำพุนำมาใช้เพื่อการบริโภค แหล่งของพลังงานไฟฟ้าก็เอามาจากกลังงานน้ำ และใช้ฟืนเพื่อจุดไฟให้อบอุ่น

ผู้คนที่อยู่ที่นั่นดูจะเป็นสุขดี แต่สำหรับเด็กๆ แล้วก็ต้องเจอความท้าทาย เพราะเมื่อไปโรงเรียนก็จะถูกเพื่อนๆ ล้อว่าเป็นพวกใช้ชีวิตแนวทางเลือก เช่นเดียวกับลูกสาววัย 17 ของแพทริกที่ไม่ชอบความเป็นชนบท และตอนนี้เลือกที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง

เช่นเดียวกับ แอน ลูกสาวของซีมอร์ ที่พบว่าชีวิตมันยากขึ้นเมื่อครอบครัวย้ายจากอีสต์แองเกลียไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในเวลส์ เพราะแม้แรกๆ ชีวิตจะสนุกสนานดี แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องเงิน เพราะก็มีหนี้ค่าบ้านก้อนโต ส่วนพ่อของเธอก็มักจะใช้เวลากับไปออกไปให้สัมภาษณ์ทีวีเกี่ยวกับเรื่องราวชนบท และมีคนแปลกหน้ามาเจอเรื่อยๆ เพื่อขอคำปรึกษา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้ได้เงิน และเรื่องนี้ทำให้พ่อกับแม่ต้องเถียงกันบ่อยๆ

JS.jpg

จอห์น ซีมอร์
ภาพจาก http://muddy-fields.blogspot.co.uk/2010/06/books.html

สุดท้าย พ่อและแม่ของแอนก็แยกทางกัน ซีมอร์ตัดสินใจสร้างศูนย์การพึ่งพาตนเองที่มีชื่อว่า ศูนย์การใช้ชีวิต (The Center of Living) และตอนนั้นเอง เขาเริ่มคิดว่า แนวคิดแบบการพึ่งพาตนเองคงยากเกินไปสำหรับการใช้ชีวิตแบบครอบครัว

ศูนย์การใช้ชีวิตของซีมอร์ เปิดทำการได้ 3 ปี ก็ปิดตัวไป เพราะไม่มีเงินพอ ต่อมาซีมอร์หันมาเขียนบทและทำรายการทีวีเกี่ยวกับวิถีชนบท และย้ายไปอยู่ไอร์แลนด์ ก่อนจะกลับมาตายที่เวลส์เมื่อปี 2004 ขณะอายุได้ 90 ปี วันที่เขาเสียชีวิต เขาถูกห่อตัวด้วยผ้าห่มทอมือ และฝังไว้ในสวนไม่ไกลบ้าน

สำหรับแอน ลูกสาว ตอนนี้ก็ยังได้รับอีเมลจากผู้คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือของพ่อ ส่วนตัวเธอนั้นก็อาศัยในสวนขนาด 4 เอเคอร์ กับสามี แต่เธอบอกว่า เธอไม่ใช่คนประเภท “พึ่งตนเองตามตำรา” เธอเองก็เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่และปลูกพืชผัก บนหลักการ “ทำเท่าที่ทำได้” และเธอไม่ใช่คนที่มีทัศนคติแบบ “hair shirt” หรือคิดว่าต้องสละความสบายในชีวิตมาอยู่อย่างลำบาก

ทุกวันนี้ คนในชุมชนลอรีสตันปรับตัว ผ่อนคลายหลักการมากขึ้น จากเดิมที่อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ในแมนชั่นด้วยกัน ตอนนี้คนส่วนใหญ่ย้ายออกมาสร้างกระท่อมอยู่เอง เพราะใครๆ ก็อยากมีหน้าบ้านเป็นของตัวเอง และเปลี่ยนจากการทำงานในไร่นาแบบเต็มเวลามาเป็นแบบครึ่งเวลา

ประสบการณ์ของแพทริกบอกว่า การใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ (Self-efficiency) กับการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง (Self-sufficency) มันไม่เหมือนกัน เราอาจทำเท่าที่เราทำได้ แต่เราไม่สามารถทำได้ดีสมบูรณ์แบบหรอก

…..

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เรียบเรียงจากบทความของ แคลร์ เบตส์ (Claire Bates) คอลัมนิสต์ของบีบีซี