เลือกตั้งออสเตรียเป็นโมฆะ กลุ่มขวาจัดมีลุ้นขึ้นเป็นผู้นำ

จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรียเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 59 ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาสูสี โดย อเล็กซานเดอร์ ฟาน เดอ เบลลอง อดีตผู้นำพรรคกรีน ตัวแทนจากฝ่ายซ้าย ชนะคะแนนแบบเฉียดฉิวไปเพียง 30,863 เสียง หรือไม่ถึง 1 % ทำให้คู่แข่งจากพรรคฟรีดอมซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดต้องพ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนร้อยละ 50.3 ต่อ 49.7

แต่ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ (1 ก.ค. 59) ศาลรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรียมีมติให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และให้เลือกตั้งใหม่ราวกันยายนหรือตุลาคมนี้ และเป็นที่คาดการณ์กันว่า หากเลือกตั้งใหม่ บรรยากาศการเมืองในยุโรปที่กำลังคุกรุ่นจากกระแสเบร็กซิต มันอาจจะส่งเสริมให้พรรคการเมืองฝ่ายขวามีโอกาสทางการเมืองยิ่งขึ้น

vande

อเล็กซานเดอร์ ฟาน เดอ เบลลอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์วัย 72 ปี
อดีตผู้นำพรรคกรีน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย

noberthofer

โนแบร์ต โฮเฟอร์ นักการเมืองวัย 45 ปี
ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคฟรีดอม พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในออสเตรีย

พรรคฟรีดอมไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เพราะเห็นว่าการนับคะแนนจากผู้ที่ลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์น่าจะผิดพลาด และยังมีข้อมูลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เปิดให้ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 16 ปีและชาวต่างชาติมาลงคะแนนได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบตามที่แย้ง และให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

บรรยากาศการเลือกตั้งในออสเตรียชี้ให้เห็นถึงสภาพการเมืองที่มีการแบ่งแยกแตกขั้วระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์ และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นชัยชนะส่วนหนึ่งของกลุ่มขวาจัดที่มีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพและไม่ไว้วางใจในตัวสหภาพยุโรป

คำสั่งศาลมีผลให้ต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากพรรคฟรีดอมได้รับเลือกตั้ง นายนอร์แบร์ต โฮเฟอร์ จะเป็นผู้นำประเทศในอียูประเทศแรกที่มาจากกลุ่มขวาจัด ยิ่งกว่านั้น ตัวอย่างจากการลงประชามติในอังกฤษก็ทำให้นายโฮเฟอร์บอกไว้เช่นกันว่า เขาอยากจะให้มีประชามติถามประชาชนเหมือนกันว่ายังคิดว่าออสเตรียควรจะอยู่ร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปหรือไม่

ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ ฟาน เดอ เบลลอง คู่แข่งของเขาที่ชนะศึกเลือกตั้งที่เพิ่งถูกประกาศให้เป็นโมฆะไป มีจุดยืนที่ไปคนละทิศทางกับนายโฮเฟอร์ เขาเชื่อมั่นในตัวสหภาพยุโรป และอยากให้เกิดสังคมแบบ “ไร้พรมแดน” แบบ “สหรัฐยุโรป”

เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า มีชาวออสเตรียจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า กระแสการลงประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ยิ่งไปกระตุ้นทัศนคติชาตินิยมในออสเตรีย แต่ก็มีคนที่เห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองในเกาะอังกฤษก็อาจทำให้คนระมัดระวังแนวคิดเรื่องการแยกตัวออกจากอียูมากขึ้น

ที่มา: BBC
ภาพ ผลเลือกตั้งพฤษภาคม จากเฟซบุ๊ก Alexander Van Der Bellen
ภาพ Nobert Hofer จาก เฟซบุ๊ก Nobert Hofer 2016
ภาพ Alexander Van Der Bellen จากเฟซบุ๊ก Alexander Van Der Bellen