สหรัฐฯ: เมื่อ “คุก” ทำกำไรงาม และน่าลงทุนกว่า “การศึกษา”

ยินดีต้อนรับสู่บริษัท สถานกักกัน จำกัด ดังที่คุณอาจได้ยินมาบ้างแล้วว่า หลายรัฐในสหรัฐฯ ใช้วิธีจัดการเรือนจำโดยเปลี่ยนมือให้งานหลายส่วนไปอยู่ในความดูแลของบริษัทเอกชน หรือที่เรียกกันว่า privatisation และมันก็เหมือนการทำธุรกิจทั่วไปที่ยิ่งมีลูกค้ามากก็ยิ่งกำไรงาม ทว่ากรณีนี้ ลูกค้า ก็คือ คนคุก

จากรายงานที่ทางการสหรัฐฯ เผยแพร่ออกมาสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่า ตลอด 33 ปีที่ผ่านมา รายจ่ายงานด้านคุกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ซึ่งเทียบกันแล้ว งานด้านการศึกษากลับเพิ่มแค่เท่าตัวเดียว

นั่นคือ ในช่วงปี 1979 ถึง 2012 ค่าใช้จ่ายของรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่ใช้ไปกับการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้น 107% จาก 258 พันล้านเป็น 534 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรือนจำเพิ่มสูงขึ้น 324% จาก 17 พันล้าน เป็น 71 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประชากรในเรือนจำหรือคนคุก ก็เพิ่มจำนวนถึง 4 เท่า จาก 467,000 คนเป็น 2.1 ล้านคน สัดส่วนที่ถือว่าขยายตัวมากกว่าการเพิ่มจำนวนของประชากรถึง 7 เท่า

และต้องกล่าวว่า ที่มาที่ไปที่ทำให้คนไปอยู่ในคุกกันมากขึ้นแบบก้าวกระโดดนี้ มาจากการเริ่มใช้กฎหมายในช่วงทศวรรษที่ 90 ที่เปลี่ยนมากำหนดโทษขั้นต่ำ (แทนระบบการกำหนดเพดานโทษ) ทำให้ผู้พิพากษาไม่สามารถพิจารณาโทษให้จำคุกสถานเบากว่าที่กฎหมายระบุ

ถ้าเทียบกัน ค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนในการศึกษาในระดับปวส.และปริญญาตรียังคงอัตราเดิมนับแต่ปี 1990 แต่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรือนจำในแต่ละรัฐเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 44% ขณะที่งบประมาณที่ให้ทุนการศึกษาแบบเต็มเวลาสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษากลับลดลง 28%

รายงานนี้ยังพบด้วยว่า จำนวน 2 ใน 3 ของผู้ต้องขังเรียนไม่จบม.ปลาย หรือระดับปวช.

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนนักโทษมากที่สุดในโลก สถิติในปี 2013 พบว่ามีนักโทษทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน และธุรกิจด้านสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเรือนจำก็เป็นธุรกิจที่รายได้งาม ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านสุขภาพ การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำเช่น ชุดนักโทษ ถาดอาหาร จนถึงหน้ากากป้องกันนักโทษพ่นน้ำลาย

เรือนจำของรัฐมากกว่าครึ่งประเทศ บริหารงานโดยเอาท์ซอร์สงานบริการสาธารณสุขให้แก่บริษัทเอกชนแทน อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

อย่างไรก็ดี การแปรรูปให้เป็นเอกชนนี้ไม่ได้ช่วยให้รัฐลดรายจ่าย เพราะในช่วงปี 2010-2014 รัฐบาลกลางมีรายจ่ายจากการเอาท์ซอร์สงานสาธารณสุขมากขึ้น 24%

ท็อดด์ เมอร์ฟี ผู้อำนวยการบริษัท CMGC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายใหญ่ที่สุดให้แก่เรือนจำในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าอยู่ในธุรกิจนี้มาแล้ว 32 ปี และถือเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยม แม้มันไม่ช่วยลดงบประมาณของรัฐ แต่เชื่อมั่นได้ว่าจะมีคุณภาพการบริการดีกว่า

แต่ปรากฏว่าอัตราส่วนนักโทษที่เสียชีวิตในเรือนจำที่ CMGC ดูแลอยู่กลับสูงกว่าเรือนจำอื่นๆ และบริษัทก็ถูกฟ้องคดีแพ่งในนามกลุ่มบุคคลว่า ให้บริการทางการแพทย์ไม่ทันการจนทำให้มีหลายกรณีเสียชีวิต

เมอร์ฟีกล่าวว่า สาเหตุหลักที่รัฐเลือกจะเอาท์ซอร์สงานด้านสุขภาพไม่ใช่เพื่อลดต้นทุน แต่เพื่อความสบายใจที่จะไม่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง

เวย์น ดิกกีย์ ประธานคนใหม่ของสมาคมเรือนจำอเมริกันกล่าวว่า มันอาจฟังดูสมเหตุสมผลถ้าจะเอาท์ซอร์สงานจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น การซักรีด หรืองานครัวออกไปทำสัญญากับบริษัทเอกชน แต่เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะเอางานด้านสุขภาพไปอยู่ในมือของบริษัทที่มุ่งเป้าหมายเป็นกำไร

อาห์หมัด อาฟซัล และครอบครัว เป็นผู้ผลิตชุดนักโทษ ชุดชั้นใน และเสื้อคลุมป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งผลิตในปากีสถานก่อนจะส่งไปขายให้เรือนจำต่างๆ ในสหรัฐฯ กล่าวว่าธุรกิจของเขาไปได้สวย และเพราะมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น นักโทษเพิ่มขึ้น จำนวนลูกค้าของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

สำหรับสินค้าที่ราคาแพงที่สุด คือ เตียงนักโทษที่มีเครื่องพันธนาการครบ ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ 3,000 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนสินค้ายอดนิยมคือหน้ากากสำหรับป้องกันนักโทษถ่มน้ำลายในผูุ้คุม

การบริหารเรือนจำโดยให้เอกชนเข้ามาดูแลนี้ สองผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีจุดยืนที่ต่างกัน ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตหาเสียงว่า จะยุติการทำเรือนจำและสถานกักกันเอกชน ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันย้ำว่า จะเพิ่มการเอาท์ซอร์สให้เอกชนมาบริหารให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่ทำงานได้ดีกว่า

อ้างอิง:

ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/prison-jail-detention-fence-wire-370112/