เมื่อช่วงสี่ทุ่มของคืนวันที่ 15 ก.ค. ตามเวลาในท้องถิ่น ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อรรัฐประหาร แต่มวลชนเกิดลุกฮือ ฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว ออกมาปกป้องประชาธิปไตย แต่เหตุครั้งนี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 90 ราย บาดเจ็บ 1,154 คน
ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันออกมาบนท้องถนนเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ล่าสุดเขาประกาศแล้วว่า ทหารเหล่านั้นถูกจับแล้วในข้อหากบฏ ด้านบีบีซีรายงานคำประกาศของ บินาลี ยิลดิลิม นายกรัฐมนตรีตุรกีว่าล่าสุดได้ควบคุมตัวผู้พยายามก่อการรัฐประหารไปแล้วกว่า 130 นาย
หลังทหารกลุ่มหนึ่งประกาศทำรัฐประหาร ในเมืองหลวงอังการาและเมืองอิสตันบูลก็เกิดเสียงปืนและระเบิด แต่เมื่อช่วงเช้ามืด จากการรายงานของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ พบว่ามีนายทหารกลุ่มรัฐประหารราว 30 นายที่ยอมทิ้งอาวุธ หลังถูกทหารและตำรวจล้อมรอบในทักซิมสแควร์ ใจกลางเมืองอิสตันบูล ผู้บัญชาการทหารตุรกีกล่าวว่าเครื่องบินรบได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายรัฐประหาร
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าอาคารรัฐสภาในกรุงอังการาถูกไฟไหม้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ สถานีโทรทัศน์ Anadolu ของทางการตุรกีรายงานว่า จากการปะทะกันในเมือง ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 42 นาย ในจำนวนนั้นมีตำรวจ 17 นาย
นับแต่เกิดเหตุ มวลชนภายในประเทศออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร ประชาชนไม่เชื่อฟังคำสั่งเคอร์ฟิวตามที่ผู้ก่อรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึก แต่ออกมารวมตัวกันในสถานที่สำคัญกลางอิสตันบูลและอังการา
“เรามีนายกฯ เรามีผู้นำสูงสุด เราจะไม่ปล่อยให้ประเทศของเราเข้าสู่ภาวะตกต่ำ” ประชาชนคนหนึ่งตะโกนออกมา ขณะที่มีกลุ่มประชาชนปีนป่ายขึ้นไปบนรถถังที่จอดในสนามบินอิสตันบูลเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารด้วย
ด้านสื่อมวลชนสำนักต่างๆ รายงานข่าวชิ้นนี้ ในช่วงเริ่มแรกต่างพร้อมใจกันเรียกการรัฐประหารครั้งนี้เป็นเพียง attemped coup หรือความพยายามรัฐประหาร
DW ของเยอรมนีพาดหัวว่า “World powers back Erdogan over coup attempt” หรือ “ผู้นำโลกหนุนประธานาธิบดีเออโดกันต้านความพยายามรัฐประหาร” โดยมีข้อมูลว่า บารัค โอบามา จากสหรัฐ สนับสนุนประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือน และมีสถาบันที่เป็นประชาธิปไตย ด้านเฟเดริกา โมเกรินี ทูตของสหภาพยุโรป ก็กล่าวว่าขอให้สถานการณ์ในตุรกีกลับมาสู่ภาวะปกติภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้านวลาดิเมียร์ ปูตินได้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้ง ขณะที่ จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านย้ำว่า เสถียรภาพ ประชาธิปไตย และความปลอดภัยของประชาชนคือสิ่งสำคัญสูงสุด
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงอังการา ประเทศตุรกี เผยข้อมูลผ่านเพซบุ๊กว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังสับสน มีคนไทยจำนวนหนึ่งติดอยู่ภายในสนามบินที่อิสตันบูล แต่ได้รับการประสานงานกันเรียบร้อยแล้ว