วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ บี้บริษัทยา ทำไม “ยาแก้แพ้” แพงขึ้น 400 เท่า

สำหรับคนที่มีอาการแพ้รุนแรงที่เสี่ยงต่อชีวิต มักจะต้องพกยา EpiPen เอาไว้ติดตัว ยานี้มาพร้อมแพคเกจที่พร้อมฉีดเข้าร่างกายทันทีที่เกิดอาการรุนแรง แต่ก็มีปัญหาว่า ยาจำเป็นตัวนี้ราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 ส.ค.) ชาร์ลส อี. แกรสลีย์ วุฒิสมาชิกจากรัฐไอโอวา จากพรรครีพับลิกัน ส่งจดหมายไปยังบริษัท Mylan ผู้ผลิตยา EpiPens เพื่อขอคำอธิบายว่า มีเหตุอะไรที่ยาต้องแพงขึ้นมหาศาล คือนับแต่บริษัทเริ่มขายยาตัวนี้เมื่อปี 2007 ผ่านไป 9 ปี ยาแพงขึ้นถึง 400 เท่า สนนราคาเวลานี้อยู่ที่ 600 ดอลลาร์ หรือ 20,000 กว่าบาท

EpiPens ถูกโฆษณาว่าเป็นยาที่ควรมีไว้ในบ้านและโรงเรียน เพื่อเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถใช้ได้ทันท่วงที ใช้รับมือสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ที่เสี่ยงต่อชีวิต เช่น การแพ้รุนแรงจากผึ้งต่อย แพ้อาหาร หรืออื่นๆ โดยผู้ป่วยต้องรีบฉีดยานี้เข้าที่ต้นขาทันทีที่มีอาการ

แม้ยานี้จะรวมอยู่ในระบบประกันสุขภาพฟรีที่รัฐสงเคราะห์ ซึ่งจะทำให้คนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงยาได้ แต่ความเฟ้อของราคาก็เป็นเรื่องที่น่าฉงนและเป็นภาระงบประมาณรัฐ นอกจากนี้ แม้จะมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่นที่ทำออกมาแข่ง เช่น Adenaclick แต่บริษัทประกันหลายแห่งก็ไม่ยอมให้เบิก

ขณะที่ เอมี คลอบูชาร์ วุฒิสมาชิกรัฐมินเนโซตา จากพรรคเดโมแครต ก็ตั้งกระทู้ถามเรื่องราคา และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการด้านการค้าเข้าไปตรวจสอบว่าบริษัท Mylan ได้กระทำการใดที่ขัดขวางไม่ให้คู่แข่งเข้าสู่ตลาดหรือไม่ เพราะ อีกยี่ห้อหนึ่ง คือ Adrenaclick ซึ่งราคาถูกกว่ามาก แต่ก็ไม่ค่อยวางขายในท้องตลาด

สำหรับผลประกอบการของ Mylan ในแผนกที่ขาย EpiPens และสินค้าเล็กน้อยอื่นๆ พบว่า สามารถทำเงินได้ถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 หรือมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่วุฒิสมาชิกทั้งสองคนทวงถามนั้น เป็นเพียงกรณีหนึ่งของธุรกิจใหญ่ ซึ่งภาพรวมใหญ่ของธุรกิจยา มักมีข้อโต้แย้งหลักว่า บริษัทยาจำเป็นต้องหวงแหนการผูกขาดสิทธิบัตร ซึ่งจะช่วยให้ผูกขาดตลาดแล้วทำกำไรได้ แล้วก็จะได้ช่วยให้มีงบประมาณไปส่งเสริมให้เกิดการค้นพบตัวยาใหม่ๆ

แต่บนข้ออ้างนี้ บริษัทยาต่างๆ ก็ไม่ค่อยเปิดเผยว่า ใช้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาไปในการทดลองเท่าไร อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวไปค้นเอกสารที่บรรษัทยาส่งรายงานถึงตลาดหลักทรัพย์ ชี้ให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า บริษัทยาใช้งบการลงทุนและวิจัยไปราวร้อยละ 8-18 ของรายได้ ซึ่งน้อยกว่างบประมาณทำการตลาดเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าเป็นก้อนที่น้อยกว่ากำไรที่บริษัทได้กลับคืนมา

จากข้อมูลนี้ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ในการจ่ายยาแพงแต่ละครั้ง มีเพียงสัดส่วนน้อยนิดเท่านั้น ที่เข้าไปสู่งบวิจัยและพัฒนายา

ที่มา: