สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มโทษหนักขึ้น ปิดเว็บได้แม้ไม่ผิดกม.

เสนอแก้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดชัด ปิดเว็บได้แม้ไม่ขัดต่อกฎหมาย พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คน

maxresdefault

ภาพจาก Digital Futures

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 160 เสียงต่อ 0 และงดออกเสียง 3 เสียง

สาระสำคัญในร่างแก้ไขคือ แบ่งแยกฐานความผิดกรณีการใช้งานออนไลน์ ซึ่งข้อมูลนั้น กระทบต่อสาธารณะ กับข้อมูลนั้นกระทบต่อ “บุคคล”

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

การแก้ไขนี้เห็นได้ในการแก้ไขมาตรา 14 ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเท็จ กรณีที่ข้อมูลนั้นมีผลกระทบต่อประชาชน อัตราโทษสูงสุดอยู่ที่โทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่กระทบต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อัตราโทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขนี้ชี้ชัดว่า เจตนาอุดรอยรั่ว เพื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ในกรณีคดีหมิ่นประมาทได้

การแก้ไขส่วนอื่นๆ ในร่างฉบับปี 2559 นี้ ใจความสำคัญยังอยู่ที่การเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น ทำให้พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีโทษสูงสุดถึงจำคุก 20 ปี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการอย่างเจ้าของเว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ร่างกฎหมายนี้เสนอให้แก้ไขมาตรา 15 โดยมีมาตรการคล้ายการ Notice and Takedown หรือมาตรการการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นมาด้วย

ในส่วนของการบล็อคเว็บไซต์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ใช้บ่อยนั้น ร่างฉบับนี้เพิ่มมาตรา 20 (4) ให้สามารถบล็อคเว็บได้แม้เนื้อหาอาจไม่ผิดกฎหมายที่มีอยู่ แต่หาก “คณะกรรมการกลั่นกรอง” ที่จะตั้งขึ้นใหม่จำนวน 5 คนเห็นว่าควรปิดกั้น ก็สามารถปิดกั้นหรือลบได้

สำหรับร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี้ ขั้นตอนต่อไปหลังสนช.รับหลักการในวาระแรก สภาจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างต่อไป

(หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลเมื่อ 19.27 น. วันที่ 29 เม.ย. 59 เรื่องการแชตข้อมูลระหว่างบุคคลต่อบุคคล ซึ่งเป็นการตีความวรรคท้ายของมาตรา 14 ฉบับแก้ไขที่คลาดเคลื่อน ร่างกฎหมายมีเจตนาระบุถึงผลกระทบที่มีต่อบุคคล มิใช่การสนทนาระหว่างบุคคล)

อ่านร่างกฎหมายได้ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext52/52708_0001.PDF