ช่วงสายของวันศุกร์ที่ 6 พ.ค. 2559 ศาลทหารกรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับ พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของจ่านิว นักศึกษานักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ว่ากระทำผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันเบื้องสูง และทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
พัฒน์นรี อายุ 40 ปี มีอาชีพรับจ้าง ลูกของเธอคือ “จ่านิว” หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้งจนมีคดีติดตัวหลายคดี
แบรด อดัม จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ถือเป็นการ “ยกระดับ” ของรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารที่พุ่งเป้าไปที่ “แม่” ของนักกิจกรรม
16.00 น. ของวันเดียวกัน แม่ของจ่านิวไปมอบตัวที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกนำตัวไปขังที่สน.ทุ่งสองห้อง ก่อนจะนำตัวไปกองบังคับการปราบปรามในวันต่อมา
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลักฐานหลักที่ใช้ในคดี คือข้อมูลการแชตกับ บุรินทร์ อินติน นักกิจกรรมที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ โดยมีหลักฐานเป็นภาพจับหน้าจอที่เขาส่งข้อความคุยกับแม่จ่านิวผ่านทางโปรแกรมแชตของเฟซบุ๊ก โดยบุรินทร์เขียนข้อความขึ้นต้นว่า “อย่าว่าผมนะที่คุยแบบนี้…” ซึ่งแม่ของจ่านิวตอบกลับว่า “จ้า” ในส่วนนี้ทำให้ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ช หนูทอง พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติกรรมที่กระทำความผิดว่า ผู้รับข้อมูลไม่ได้ห้ามปราม ตำหนิ หรือต่อว่าให้หยุดการกระทำดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนร่วมโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ด้านบีบีซีไทยรายงานว่า พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องในคดีนี้ไม่ได้มีแค่เรื่อง “จ้า” พร้อมเตือนผู้สื่อข่าวว่าให้เสนอข่าวตรงตามความจริง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อาจให้รายละเอียดคดีได้เพราะเป็นความลับ
ขณะที่ตำรวจเริ่มปรามการทำงานของสื่อว่าอย่าเสนอข้อมูลเท็จ เรื่องนี้ก็สร้างคำถามมากมายในหมู่ผู้รับข่าวสาร ว่าแม่ของจ่านิวไม่ได้เป็นเจ้าของความคิดเห็น ไม่ใช่ผู้นำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ตัวกลางผู้ให้บริการ เป็นเพียงปลายทางของบทสนทนา ดังนั้น จึงสงสัยว่าจะเข้าข่ายองค์ประกอบการกระทำความผิดในกฎหมายใด
นอกจากนี้ หลักฐานสำคัญในคดีคือภาพถ่ายของบทสนทนา ที่กระพือความสงสัยอย่างมากว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนใช้วิธีใดจึงทำให้สามารถอ่านแชตนั้นได้ ความสงสัยนี้กำลังบ่มเพาะจนกลายเป็นความกลัวว่า หากเจ้าหน้าที่สามารถแฮกบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ หรือทางเฟซบุ๊ก หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ให้ข้อมูลนี้ การแสดงความเห็นผ่านเครื่องมือเฟซบุ๊กก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย
บรรยากาศความกลัวนี้ ทำให้เครือข่ายพลเมืองเน็ตทำจดหมายสาธารณะถามไปยังเฟซบุ๊ก ว่าให้ตอบคำถามว่าที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยไปแค่ไหน ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 1,500 ชื่อ