แกรี่ คิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และคณะ ค้นพบว่า รัฐบาลจีนมีคณะทำงานลับที่คอยผลิตเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตถึง 488 ล้านโพสต์ต่อปี เพื่อเบนความสนใจของคนเมื่อมีข่าววิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์
เป้าหมายของทีมทหารลับที่มาทำตัวเป็นนักคอมเมนท์ออนไลน์นี้ ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะและเปลี่ยนประเด็นสนทนาออนไลน์ให้ออกห่างจากเรื่องที่จะทำให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์เชิงลบ
งานวิจัยนี้ ยังพบว่า หลักฐานหนึ่งที่บอกถึงกระบวนการนี้คือการมีอยู่ของ “พรรค 50 เซนต์” ชื่อนี้มาจากการที่คนทำงานหนึ่งคนจะได้รับเงิน 50 เซนต์จากการโพสต์หนึ่งโพสต์
ทีมวิจัย ซึ่งยังมี เจนนิเฟอร์ แพน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ มาร์กาเร็ต อี. โรเบิร์ต จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ที่ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning techniques) มาวิเคราะห์ข้อความในโซเชียลมีเดีย โดยวิเคราะห์ควบคู่กับเนื้อหาในอีเมลประกอบกับฐานข้อมูลของกลุ่มนี้ที่เล็ดรอดออกมา
งานวิจัยพบว่า ความพยายามในการระดมคอมเมนท์นั้น มักเกิดขึ้นในเวลาประจวบเหมาะกับเมื่อมีการประกาศจากรัฐบาล หรือวันสำคัญของชาติ ซึ่งครึ่งหนึ่งของเนื้อหาที่โพสต์ จะอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาล อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่าง Sina Weibo เว็บยอดนิยมสำหรับชาวจีน
กราฟแสดงปริมาณของเนื้อหา พบว่าวันสำคัญของชาติ ปริมาณเนื้อหาที๋โพสต์มีมากเป็นพิเศษ
ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยตั้งข้อสมมติฐานว่า พรรค 50 เซนต์ คงใช้วิธีเข้าไปแทรกแซงบทสนทนาผ่านการโต้เถียงและปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์ หรือรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำในช่องทางออนไลน์ แต่เมื่อศึกษาแล้วกลับพบข้อค้นพบใหม่ที่ว่า พรรค 50 เซนต์ไม่ได้ใช้วิธีถกเถียง แต่มักเข้าร่วมบทสนทนาแบบ “ไร้ข้อถกเถียง” แต่จะพร่ำเพ้อและเชลียร์ความเป็นรัฐ สัญลักษณ์ของระบอบ และเรื่องเก่าๆ ว่าด้วยการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์
สมาชิกของพรรค 50 เซนต์นี้ ก็ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป แต่คือพนักงานของรัฐ ที่การเขียนโพสต์และคอมเมนท์จัดอยู่ในงานปกติที่พวกเขาต้องทำ
ข้อค้นพบในงานวิจัยนี้มาจากข้อมูลที่ได้จากอีเมลและฐานข้อมูลที่เล็ดรอดออกมา ซึ่งทีมวิจัยบอกว่า ปริมาณและความซับซ้อนเป็นพิเศษของข้อมูลชุดนี้ ทำให้พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นของจริง และหวังว่ามันจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของโปรแกรมลับที่รัฐบาลจัดตั้ง และอาจนำไปสู่การค้นหาแง่มุมอื่นๆ จากประเทศจีนหรือจากประเทศเผด็จการอื่นๆ
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม: King, Gary, Jennifer Pan, and Margaret E. Roberts. “How the Chinese Government Fabricates Social Media Posts for Strategic Distraction, not Engaged Argument.” (2016).
ที่มา: The Independent
ที่มาภาพ: Wikipedia