คดีข่มขืนในม.แสตนฟอร์ด: คนเกือบล้านลงชื่อถอดถอนผู้พิพากษา

มวลชนมากกว่า 860,000 ร่วมลงชื่อให้ถอดถอนผู้พิพากษา หลังเห็นว่าคำตัดสินไม่ยุติธรรมที่ผู้พิพากษาปรานีนักศึกษาม.สแตนฟอร์ดที่ข่มขืนหญิงสาวขณะหมดสติให้จำคุกเพียงแค่ 6 เดือน

จากกรณีที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกาเมื่อมกราคม 2015 เกิดคดีที่ “บร็อค เทอร์เนอร์” นักศึกษาซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่งหลังถังขยะ แต่มีนักศึกษาปริญญาเอกชาวสวีเดนสองคนที่ขี่จักรยานผ่านมา จึงตะโกนให้เขาหยุดพร้อมทั้งวิ่งไล่จับตัวเขาไว้ คดีนี้ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน จากนั้นมีการเผยแพร่ถ้อยแถลงจากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย และกลายเป็นกระแสคัดค้านคำพิพากษาอย่างรุนแรง

ความรู้สึกของมวลชนที่มีต่อกรณีนี้ ทำให้มีผู้ริเริ่มเขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเว็บไซต์ Change.org ให้ถอดผู้พิพากษาออกจากตำแหน่ง และล่าชื่อได้แล้วมากกว่า 860,000 รายชื่อแล้ว (ตามเวลาที่เขียนข่าวนี้) นอกจากนี้ ยังระดมชื่อพลเมืองอเมริกันให้เสนอคำร้องไปยังทำเนียบชาวเพราะหากระดมได้ครบหนึ่งแสนชื่อ ทำเนียบขาวมีพันธะต้องหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อราว 8 หมื่นชื่อแล้ว

ผู้พิพากษาแอรอน เพอร์สกีย์ (Aaron Persky) ถูกวิจารณ์หลังตัดสินให้บร็อค เทอร์เนอร์ จำคุก 6 เดือนจากความผิด 3 ข้อหา 1) พยายามข่มขืนหญิงสาวที่อยู่ในอาการมึนเมา 2) สอดใส่สิ่งแปลกปลอมทางเพศเข้าไปในร่างกายของผู้ที่มึนเมา และ 3) สอดใส่สิ่งแปลกปลอมทางเพศเข้าไปในร่างกายของคนที่ไม่ได้สติ ซึ่งทั้งหมดนี้ มีโทษสูงสุดจำคุก 14 ปี แต่ด้วยนิยามคดีทางเพศภายใต้กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเลยจึงหลุดจากข้อหาในคดี “ข่มขืน” ตั้งแต่วันตรวจพยานหลักฐาน

ผู้พิพากษาเพอร์สกีย์กล่าวว่า เทอร์เนอร์ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น และอ้างว่าโทษจำคุกจะส่งผลกระทบทางร้ายต่อชีวิตของเขา เขาได้รับการผ่อนผันโทษจากหลายปัจจัย อาทิ มีพฤติกรรมที่ดี ไม่เคยก่ออาชญากรรมมาก่อน และต้องเข้าโครงการจัดการผู้กระทำความผิดทางเพศ และถูกขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีประวัติก่อความผิดทางเพศ หลังคำพิพากษา เทอร์เนอร์เริ่มรับโทษจำคุกเมื่อ 2 มิ.ย. ซึ่งระบบออนไลน์ของเรือนจำเขตซานตา คลารา ระบุว่าเขาอาจจะพ้นโทษวันที่ 2 ส.ค. หรือจำคุก 3 เดือนหากมีความประพฤติดี

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีนี้หนาหูยิ่งขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยจดหมายจากพ่อจำเลย ที่ขอให้ศาลตัดสินด้วยความปรานีโดยบอกว่า โทษจำคุกนี้เป็นค่าใช้จ่ายราคาแพงจากการกระทำแค่ 20 นาที

และยังมีจดหมายจาก เลสลี แรสมุสเซน (Leslie Rasmussen) เพื่อนสมัยเด็กของจำเลยที่ยื่นต่อศาลเพื่อบอกถึงนิสัยที่ดีของเทอร์เนอร์ เธอบอก เธอเห็นว่ามันไม่ยุติธรรมหากคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตของเทอร์เนอร์ในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า กับคำตัดสินที่เกี่ยวข้องกับเด็กสาวคนหนึ่งที่จำอะไรไม่ได้เลยในขณะเมาแล้วมาตั้งข้อหาใส่เพื่อนของเธอ เพื่อนของเทอร์เนอร์ยังบอกว่า เราจะขีดเส้นตรงไหน เราน่าจะหยุดคิดเรื่อง politically correct ตลอดเวลา และเห็นได้ว่า การข่มขืนในมหาวิทยาลัยมันไม่ได้มาจากผูข่มขืนตลอดทุกครั้งไป

ความเห็นผ่านคำแถลงในคดีของทั้งสองฝ่าย จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ในจดหมายระดมรายชื่อเพื่อให้ถอดถอนผู้พิพากษา กล่าวไว้ว่า การที่จำเลยบร็อค เทอร์เนอร์ เป็นผู้ชายผิวขาว นักกีฬาคนเด่นจากมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติไม่ได้หมายความว่านั่นควรทำให้เขาได้ลดหย่อนโทษ

สำหรับคำแถลงของฝ่ายหญิงที่ตกเป็นเหยื่อ เว็บไซต์ Buzzfeed เผยแพร่คำแถลงฉบับเต็ม ส่วนใหญ่ของคำแถลงมุ่งสื่อสารไปที่บร็อค เทอร์เนอร์ ตอนหนึ่งระบุว่า

“คุณพรากเอาคุณค่า ความเป็นส่วนตัว พลังชีวิต เวลา อัตลักษณ์ ความมั่นใจ และเสียงของฉันไป จนกระทั่งวันนี้”… “ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครเอามันกลับมาได้”

“ตอนนี้เราต่างมีทางเลือก เราจะปล่อยให้เรื่องนี้ทำลายเรา ฉันยังคงโกรธและเจ็บปวด ส่วนคุณก็ยังยืนกรานปฏิเสธ หรือเราจะเผชิญหน้ามัน ฉันยอมรับในความเจ็บปวด ส่วนคุณก็ยอมรับการลงโทษ แล้วเราก็ดำเนินชีวิตต่อไป”

คำแถลงส่วนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์ตอนที่นักศึกษาสวีเดนทั้งสองมาช่วย เธอระบุว่า

“คุณวิ่งหนีเพราะคุณบอกคุณกลัว ฉันว่าที่คุณกลัวเพราะคุณอาจจะถูกจับ ไม่ใช่เพราะกลัวนักศึกษาสวีเดนสองคนนั้น ที่บอกว่าคุณคิดว่าคุณกำลังจะถูกทำร้ายโดยไม่ทันตั้งตัวนั้นช่างน่าหัวเราะ ตรงที่มันไม่เป็นประเด็นเลยกับการที่คุณคร่อมอยู่บนตัวฉันขณะไม่ได้สติ คุณถูกจับได้คาหนังคาเขาโดยที่คุณอธิบายอะไรไม่ได้ เมื่อพวกเขาตะครุบตัวคุณได้ ทำไมคุณไม่บอกล่ะว่า ‘หยุด มันไม่มีอะไร ไปถามเธอได้ เธออยู่ตรงนั้น เธอจะบอกคุณเอง’ คุณก็แค่ถามความยินยอมจากฉัน ถูกไหม ตอนนั้นฉันตื่นอยู่สินะ ใช่ไหม? ตอนที่ตำรวจมาและสืบเรื่องจากนักศึกษาสวีเดนสองคนนั้นที่ตะครุบตัวคุณ เขาร้องไห้หนักจนพูดไม่ได้ว่าเขาเห็นอะไร และก็อีกเช่นกัน ถ้าคุณคิดจริงๆ ว่าพวกเขาอันตราย คุณเลยทิ้งผู้หญิงในสภาพกึ่งเปลือยและวิ่งหนีเอาตัวรอดคนเดียว ไม่ว่าคุณจะสร้างเรื่องขึ้นมายังไง มันก็ไม่มีเหตุผลทั้งนั้น”

“ทนายของคุณชี้ประเด็นซ้ำๆ ว่า เอาล่ะ เราไม่รู้แน่ชัดว่าเมื่อไรกันที่เหยื่อเริ่มไม่ได้สติ คุณพูดถูก ฉันอาจจะยังกระพริบตาและไม่ถึงขั้นปวกเปียกเต็มที่ ความผิดของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขารู้ถึงวินาทีที่ชัดเจนว่าตอนไหนที่ฉันหมดสติ มันไม่เคยเป็นประเด็นนั้นเลย ตอนนั้นฉันอ้อแอ้ เมาเกินกว่าจะให้ความยินยอมก่อนที่จะลงไปนอนที่พื้น ฉันไม่ควรถูกแตะต้องตัวตั้งแต่แรก บร็อกบอกว่า “ไม่มีตอนไหนที่เห็นว่าเธอไม่ตอบสนอง หากเมื่อใดที่ผมเห็นว่าเธอไม่ตอบสนอง ผมจะหยุดทันที” ตรงนี้ล่ะ ถ้าคุณคิดจะหยุดเมื่อฉันหมดสติจริงๆ ถ้าเช่นนั้นคุณคงยังไม่เข้าใจ คุณไม่ได้หยุดเลยแม้ตอนที่ฉันนิ่งไม่ไหวติง แต่ต้องให้มีบางคนมาหยุดคุณ ชายสองคนขี่จักรยานมาเจอว่าฉันไม่ขยับตัวอยู่ในความมืดแล้วไล่ตะครุบตัวคุณ แล้วตอนคุณอยู่บนตัวฉัน ทำไมคุณถึงไม่รู้ล่ะ”

หลังคำแถลงดังกล่าวได้รับการเปิดเผย นักศึกษาชาวสวีเดน 2 คน ที่เรียนป.โทอยู่ที่ม.สแตนฟอร์ด คาร์ล-เฟรดริก อานต์ (Carl-Fredrik Arndt) และ ปีเตอร์ จอนส์สัน (Peter Jonsson) ก็ออกมาพูดถึงเหตุการณ์ว่า คืนนั้นพวกเขาขี่จักรยานไปแถวสมาคมนักเรียนชายแคปปา อัลฟา (Kappa Alpha) และมองไป เห็็นตัวของเทอร์เนอร์ อยู่บนตัวของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่สังเกตได้ว่า ขณะร่างกายของเขาขยับเขยื้อน ตัวผู้หญิงกลับไม่ไหวติง พวกเขาจึงรู้สึกว่ามันมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้น พวกเขาจึงตรงเข้าไปถามว่านั่นเขากำลังทำอะไร ทำให้เทอร์เนอร์วิ่งหนี พวกเขาก็ไล่ตามไปและตะครุบตัวเอาไว้ได้ แล้วเรียกตำรวจมา

ด้านศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากม.สแตนด์ฟอร์ด มิเชล ดอเบอร์ (Michelle Dauber) ก็ทำเว็บไซต์รณรงค์ให้ผู้พิพากษาเพอร์สกีย์ถูกถอดจากตำแหน่งเช่นกัน เพียงเริ่มต้นเปิดเว็บไซต์แค่ 8 ชั่วโมงก็ได้รับเงินบริจาคสนับสนุน 8,000 ดอลลาร์

ขณะที่ครอบครัวและเพื่อนๆ ของเทอร์เนอร์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมก่อนจะมีคำพิพากษา เขาก็เปิดเว็บไซต์ระดมทุนให้คนช่วยบริจาคเพื่อช่วยจ่ายค่าสู้คดีผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ แต่หน้าดังกล่าวถูกลบออกไปแล้ว

สำหรับการระดมรายชื่อเพื่อถอดถอนผู้พิพากษากรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีของเขตซานตา คลารา แต่แม้จะได้มีผู้ร่วมลงชื่ออย่างล้นหลาม สตีฟ คุเลย์ (Steve Cooley) อัยการเขตลอสแองเจลิสให้ความเห็นว่า ในทางปฏิบัติค่อนข้างทำได้ยาก เพราะไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย เนื่องจากกรณีนี้เป็นการใช้ดุลพินิจของศาลที่จะลงโทษหนักหรือเบา ต่างจากกรณีการถอดถอนผู้พิพากษาคดีอื่นๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมายเช่น รับสินบน

หมายเหตุ: เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อ 13.20 น. วันที่ 10 มิ.ย. 59  เรื่องลดโทษจำคุกจำเลยเหลือ 3 เดือน

ที่มา:

ดูเว็บไซต์การระดมชื่อถอดถอนผู้พิพากษา ทาง Change.org