รถแทรกเตอร์ก็มีซอฟต์แวร์ผี และมันช่วยชาวนาในสหรัฐฯ ได้!

ชาวนาในสหรัฐฯ ที่ซื้อรถแทรกเตอร์ของ บริษัท จอห์น เดียร์ (John Deere) ทนการผูกขาดไม่ไหว ต้องแฮ็กรถแทรกเตอร์ตัวเอง หันมาใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนแทน

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะจอห์นเดียร์ กำหนดให้อุปกรณ์ใหม่ๆ ของบริษัทต้องดาว์นโหลดซอฟต์แวร์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรซ่อมหรือดัดแปลงเครื่องด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องเอาเข้าศูนย์อย่างเดียว

นี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวนา เพราะจ่ายเงินซื้อรถแทรกเตอร์มาแล้ว แต่กลับควบคุมอะไรเองไม่ได้ และยังเสี่ยงด้วยว่า ถ้าเครื่องพังก็ไม่รู้จะต้องรอนานเท่าไรกว่าดีลเลอร์จะเดินทางมาซ่อมให้ ฝันร้ายสูงสุดของเหล่าชาวนาคือ กลัวว่าวันหนึ่ง จอห์นเดียร์ จะกดสั่งปิดเครื่องจากทางไกล!

เมื่อตุลาคมปีที่แล้วนี้เองที่จอห์นเดียร์เขียนข้อตกลงการใช้งานขึ้นใหม่ บังคับให้เกษตรกรลงนามในสัญญาที่สั่งห้ามการซ่อมและดัดแปลงอุปกรณ์การทำไร่นา และยังห้ามเกษตรกรฟ้องร้องบริษัทในกรณีที่ “เกิดการสูญเสียผลผลิต กำไร ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ การใช้งานอุปกรณ์ไม่ได้ อันมาจากการการที่ซอฟต์แวร์ทำงานหรือไม่ทำงาน”

ข้อตกลงกำหนดว่า มีเพียงดีลเลอร์ของบริษัทและซอฟต์แวร์ที่ได้รับการรับรองเท่านั้นที่สามารถทำงานกับแทรกเตอร์รุ่นใหม่ๆ ได้

เรื่องนี้เข้าใจไม่ได้ เพราะชาวนาและเกษตรกรรู้สึกว่า เมื่อเขาซื้อแทรกเตอร์มาแล้ว ก็ควรจะใช้งานมันยังไงก็ได้ เควิน เคนนีย์ เกษตรกรจากรัฐเนบราสกา ผู้เรียกร้อง “สิทธิที่จะซ่อม” กล่าวว่า เกษตรกรไม่สามารถจะเปลี่ยนหรือซ่อมอุปกรณ์เอง ต้องรอให้จอห์น เดียร์ ซ่อมให้ ซึ่งคิดค่าซ่อมครั้งละ $230 (8,000 บาท) และคิดค่าบริการอีกชั่วโมงละ $130 ต่อชั่วโมง (4,500 บาทต่อชั่วโมง) กติกาที่ราคาแพงและบังคับผูกพันไปตลอดชีวิตแบบนี้ใช้ไม่ได้จริงสำหรับเกษตรกร ซึ่งบางรายเป็นเพียงผู้ประกอบการเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างไกลจากสำนักงานของดีลเลอร์

ทางออกของเกษตรกรก็คือ หันไปใช้ซอฟต์แวร์ผีที่ขายตามตลาดมืด โปรแกรมผีเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากโซนยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์ และ ยูเครน

หากเป็นก่อนหน้านี้ การไพเรตซอฟต์แวร์หรือดัดแปลงทำโปรแกรมเถื่อนแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เมื่อปี 2015 สภากำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ (The Digital Millennium Copyright Act) ที่ยอมให้ทะลุทะลวง แฮ็ก หรือแคร็ก โปรแกรมที่ใช้กับพาหนะภาคพื้น ในที่นี้ก็รวมถึงรถแทรคเตอร์ด้วย แต่ยังมีช่องโหว่ว่า แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ดัดแปลงโปรแกรมได้ แต่ยังไม่ชัดว่าข้อยกเว้นนั้นรวมถึง “การดาวน์โหลด” โปรแกรมดัดแปลงเหล่านั้นหรือไม่

พอกฎหมายเพิ่มข้อยกเว้นนี้ เลยทำให้จอห์นเดียร์หันไปใช้วิธีบังคับให้ลูกค้ายอมเซ็นสัญญาผูกมัดว่าจะไม่ดัดแปลงซอฟต์แวร์ ซึ่งเวลานี้นักเคลื่อนไหวกำลังผลักดันกฎหมายสิทธิที่จะซ่อม แต่ในระหว่างนี้ เกษตรกรก็ไม่มีทางเลือก ต้องแฮ็กแทร็กเตอร์ตัวเองไปก่อน ไม่เช่นนั้นแล้ว หากแค่เครื่องเสียเล็กๆ น้อยๆ ง่ายๆ เจ้าของเครื่องแทรกเตอร์ก็ยังไม่มีสิทธิซ่อมเอง ต้องรอพึ่งบริษัทซึ่งมีสิทธิซ่อมเครื่องแต่เพียงผู้เดียว

อ่านเพิ่มเติมใน:

Koebler, Jason. “Why American Farmers Are Hacking Their Tractors With Ukrainian Firmware.” Motherboard, March 22, 2017. https://motherboard.vice.com/en_us/article/why-american-farmers-are-hacking-their-tractors-with-ukrainian-firmware.

ที่มาภาพ: เว็บไซต์จอห์นเดียร์