ประธานาธิบดีบารัก โอบามาเพิ่งลงนามผ่านกฎหมายใหม่ บังคับฉลากอาหารทั่วสหรัฐอเมริกา ต้องแจ้งผู้บริโภคหากมีส่วนผสมของอาหารตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ แต่ตัวฉลากจะใช้วิธีใดเพื่อบอกข้อมูลนั้นยังเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์หนัก
แม้ฟังดูคล้ายจะเป็นความคืบหน้าของวงการอาหารในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีกฎหมายตัวใหม่ที่ระบุว่า อาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม จะต้องระบุเอาไว้ในฉลากด้วย แต่ช่องโหว่ที่ทำให้กฎหมายนี้ถูกวิจารณ์มาก ก็คือกฎหมายอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ใช้วิธีระบุบนฉลากแบบไหนก็ได้ เช่น อาจเขียนข้อความธรรมดาว่า “ผลิตจากเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรม” หรือหากจะใช้วิธีแปะ QR code หรือใช้รหัสตัวเลข 1-800 ก็ทำได้เช่นกัน
การบังคับระบุฉลากจีเอ็มโอถือเป็นก้าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารและการบริโภคของสหรัฐฯ แต่มันก็ถูกท้วงว่า กฎหมายไม่ระบุว่าเนื้อหาบนฉลากต้องชัดเจนขนาดไหน จนเปิดช่องให้ใช้วิธีซับซ้อนในแบบที่ต้องมีเครื่องอ่านหรือต้องไปค้นข้อมูลเพิ่มเอง ที่สำคัญคือ ก่อนหน้ากฎหมายเรื่องฉลากจีเอ็มโอจะถูกประกาศใช้ในระดับประเทศ ที่รัฐเวอร์มอนต์ก็นำหน้าไปก่อน โดยมีกฎหมายระดับรัฐที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา กำหนดเงื่อนไขของฉลากอาหารจีเอ็มโอเอาไว้เข้มงวดกว่า แน่นอนว่าบรรดาอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรสนับสนุนกฎหมายระดับชาติมากกว่ากฎหมายระดับรัฐที่จะทำให้บริษัทต้องปรับตัวแยกย่อยไปตามมาตรฐานที่แตกต่างกันตามแต่ละที่ แต่เมื่อกฎหมายจากรัฐบาลส่วนกลางออกมา มันจึงมีผลให้ระงับใช้กฎหมายระดับรัฐที่เข้มงวดกว่าไปโดยปริยาย
แพตตี้ โลเวรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการจากกลุ่มจับตาอาหารและน้ำ (Food and Water Watch) กล่าวว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ควรจะคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เพราะการที่กฎหมายเปิดช่องให้บริษัทต่างๆ เลือกใช้วิธีบอกผู้บริโภคผ่านถ้อยคำ หรือจะใช้ QR Code ก็ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ เพราะมันสร้างอุปสรรคสำหรับครัวเรือนที่รายได้น้อย หรือกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน ที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ลำบาก
โลเวรายังท้วงว่า เรื่องคำนิยามว่าอะไรคือการตัดแต่งพันธุกรรมก็เขียนเอาไว้ค่อนข้างแย่ เพราะเปิดช่องให้สินค้าจำนวนมากได้รับการยกเว้นไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล เช่นการที่องค์การอาหารและยานิยามความหมายของผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรมว่า หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่บรรจุส่วนผสมที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม โดยมีคุณสมบัติที่ไม่สามารถหาได้ในธรรมชาติ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ส่วนผสมส่วนใหญ่ก็หาได้จากธรรมชาติทั้งนั้น เพียงแต่โดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านั้นมันไม่จำเป็นต้องอยู่ในพืชพันธุ์ต่างๆ ดังนั้น การนิยามเช่นนี้จึงเปิดช่องให้อาหารจำนวนมากไม่ต้องชี้แจงส่วนผสมในฉลาก
ทั้งนี้ ข้อถกเถียงเรื่องจีเอ็มโอนั้นปลอดภัยหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ยังโต้แย้งไม่จบ แต่กลุ่มเคลื่อนไหวที่ตั้งคำถามต่ออาหารจีเอ็มโอมองว่า หากผู้บริโภคไม่ได้รู้ว่าอาหารชนิดใดมีส่วนผสมของการตัดแต่งพันธุกรรมอยู่หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ก็ย่อมไม่สามารถที่จะติดตามผลกระทบทางสุขภาพได้
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐอเมริกาใช้อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนผสมตกแต่งพันธุกรรมถึงร้อยละ 75-80 ส่วนใหญ่มากับอาหารจำพวกข้าวโพดและถั่วเหลือง
สำหรับกฎหมายฉบับนี้ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ก.ค.) ขั้นตอนต่อไป หน่วยงานด้านการเกษตรจะมีเวลา 2 ปีเพื่อเขียนข้อกำหนดสำหรับใช้ทั่วประเทศ
ที่มา:
- Adam Wernick. Congress approves rules for GMO labeling, but not everyone is happy. PRI. 30 July 2016
- Ben Popken. Obama Signs Controversial GMO Food Label Law. NBC News. 1 August 2016.
- Mary Clare Jalonick. Obama signs bill requiring labeling of GMO foods. AP. 29 July 2016.
ที่มาภาพ: Alexas_Fotos