เศรษฐกิจพัง “ริโอ เดอ จาเนโร” ประกาศกฤษฎีกาสภาวะฉุกเฉินด้านการเงิน เพียง 2 เดือนก่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) ผู้ว่าการรัฐริโอ เดอ จาเนโร ประกาศกฤษฎีกาสภาวะฉุกเฉินทางการเงิน และขอใช้งบประมาณจากกองทุนเงินสำรองมารองรับการแข่งขันโอลิมปิกที่จะเริ่มในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบบริการสาธารณะ สาธารณะสุข การศึกษา การขนส่งมวลชน และการจัดการสิ่งแวดล้อม ต้องพังลงทั้งระบบ
ริโอ เดอ จาเนโร เข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำทั่วโลก เช่นเดียวกับที่สถานการณ์ของประเทศบราซิลทั้งประเทศกำลังอยู่ในภาวะลำบากและต้องดิ้นรนให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
งบประมาณปี 2016 ของริโอ เดอ จาเนโร ขาดทุนสะสมอยู่จำนวน 5.6 พันล้านดอลลาร์ และประมาณการณ์ว่าประเทศบราซิลจะอยู่ในภาวะงบประมาณขาดดุลถึง 47 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นความตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 1930s
ตำรวจ ครู และเจ้าหน้าที่ของรัฐในริโอต่างได้รับค่าตอบแทนล่าช้า และคนเกษียณอายุต้องออกมาประท้วงเพราะไม่ได้รับเงินบำนาญ ปีที่แล้ว ริโอฯ สั่งปิดโรงเรียนและโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งเพราะมีอุปกรณ์ไม่พอใช้ ประชาชนออกมาประท้วงปิดถนนทุกวัน เพราะไม่พอใจในปัญหาการคอร์รัปชั่นและความเสื่อมถอยของสวัสดิการทางสังคม
การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้มีขึ้นภายหลังจากที่มิเชล เทเมอร์ รักษาการประธานาธิบดีบราซิลเดินทางไปเยือนริโอฯ เขาเห็นว่ารัฐบาลกลางต้องรับรองให้ได้ว่าประเทศพร้อมรับมือสำหรับโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางไปที่ริโอฯ ราว 500,000 คน
ภาวะขัดสนทางการเงิน ทำให้นครริโอฯ ตัดงบประมาณด้านความมั่นคงออกไปร้อยละ 30 และนั่นมีผลให้หลายเดือนที่ผ่านมา มีสถิติของเหตุฆาตกรรมและการประทุษร้ายเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดความกังวลต่อมาตรการด้านความปลอดภัยในเกมโอลิมปิก
นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว บราซิลยังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ที่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อก็อาจทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นเด็กหัวเล็กปกติ (microcephaly)
ภายใต้ภาวะเหล่านี้ นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้ และพาราลิมปิก วันที่ 7-18 กันยายน นี้ ซึ่งถือเป็นเจ้าภาพแห่งแรกในทวีปอเมริกาใต้
ที่มา: Aljazeera
ภาพจาก: Deni Williams