เทเมอร์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ปลดผู้นำ-ปราบคนโกงในบราซิล เรียกว่า “รัฐประหาร” ได้ไหม?

เป็นที่ฮือฮาจากพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อนักแสดงและทีมงานจากภาพยนตร์ Aquarius ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ แคลเบียร์ เมนดองซา ฟิลโล (Kleber Mendonca Filho) ใช้โอกาสนี้บอกเล่าเรื่องของบราซิลให้โลกรับรู้ ด้วยการชูป้ายกระดาษที่เขียนว่า “บราซิลไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอีกต่อไป” และ “เกิดรัฐประหารขึ้นในบราซิล”

ปมของเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากสภาบราซิลมีมติถอดถอน “ดิลมา รูซเซฟฟ์” (Dilma Rousseff) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกจากพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาตกแต่งบัญชีเพื่อปกปิดงบประมาณแผ่นดินที่ขาดดุล เปิดช่องให้ “มิเชล เทเมอร์” (Michel Temer) รองประธานาธิบดี และหัวหน้าพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยบราซิล (PMDB) วัย 75 ปี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีแทน

ดิลมา รูซเซฟฟ์ ประกาศทันทีว่า สิ่งที่เธอเผชิญ คือรูปแบบหนึ่งของการ “รัฐประหาร”

เมื่อวานนี้เอง (23 พ.ค.) หนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดของบราซิล “โฟเลีย เดอ เซาเปาโล” (Folha de São Paulo) เปิดเผยบทสนทนาลับความยาว 75 นาที ที่เกิดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนที่สภามีมติถอดถอนรูซเซฟฟ์ โดยเป็นบทสนทนาระหว่าง โรเมโร จูคา (Romero Jucá) ผู้นำพรรค PMDB กับอดีตประธานบริษัทน้ำมันเปโตรบราส (Petrobras) ที่กำลังตกเป็นเป้าในการสอบสวนปมคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ในปฏิบัติการถูกเรียกว่า “Operação Lava Jato” หรือ “Operation Car Wash”

ในบทสนทนาหารือกันว่า หากรูซเซฟฟ์ออกจากตำแหน่งไปก็จะทำให้การสืบสวนกรณี Car Wash ยุติลงได้ โดยในบทสนทนาก็พูดด้วยว่า ผู้บัญชาการทหารให้ไฟเขียวในการถอดถอนรูซเซฟฟ์แล้ว และหากทำได้ เรื่องนี้ยังจะช่วยยุติความกดดันจากสื่อที่มีต่อกรณี Car Wash ด้วย หลังเปิดเผยเรื่องนี้ออกมา จูคายอมรับว่าบทสนทนานี้เป็นของจริง แต่ว่ามันถูกตีความผิดบริบทและทำให้เข้าใจผิด เพราะเนื้อหาหลักไม่ใช่เรื่อง Car Wash แต่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจต่างหาก

มาเชียส สเป็กเตอร์ (Matias Spektor) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย FGV ในบราซิล คิดเห็นต่างจากหลายๆ คนที่มองว่าการถอดถอนผู้นำบราซิลครั้งนี้คือการรัฐประหาร เขามองว่ามันไม่ใช่ ในแง่ที่ว่ากระบวนการมันผ่านการตัดสินโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยอมรับว่า เรื่องตกแต่งตัวเลขงบประมาณเป็นเพียงเรื่องกระจิดริด ที่ทำจนเป็นวัฒนธรรมในบราซิลไปแล้ว ไม่ควรเป็นประเด็นจนทำให้ต้องปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง แถมฝ่ายค้านที่ยกข้ออ้างเรื่องนี้ ก็เป็นฝ่ายที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชั่นรุนแรงยิ่งกว่า สอดคล้องกับที่ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) นักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน บอกว่า เรื่องนี้มันย้อนแย้ง เพราะคนที่เป็นโต้โผในการไล่รูซเซฟฟ์ออกจากตำแหน่ง เพิ่งถูกสอบสวนว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชั่น

แต่ไม่ว่าจะเรียกมันว่ารัฐประหารหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนใครๆ ก็มองตรงกันว่า เหตุผลเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปลดรูซเซฟฟ์ลงจากตำแหน่ง

ด้านมิเชล เทเมอร์ ทันทีที่มาทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี เขาก็แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งถูกวิจารณ์หนักว่า เลือกแต่ “ผู้ชาย-ผิวขาว” และนโยบายแรกดูไม่เป็นที่ปลาบปลื้ม เพราะเขากำลังจะเลิกจ้างพนักงานของรัฐ 5,000 ตำแหน่ง และให้ยุบจำนวนกระทรวงจาก 32 กระทรวงลงเหลือ 23 กระทรวง

กระทรวงที่จะถูกยุบ เช่น กระทรวงผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และสิทธิมนุษยชน ที่จะถูกยุบเข้าไปอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรมที่จะถูกรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกรณีหลังนี้กลายเป็นประเด็นที่ถูกศิลปินชั้นนำคัดค้านอย่างหนัก โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 พ.ค.) เหล่าศิลปินรวมตัวกันบุกยึดอาคารของกระทรวงวัฒนธรรมในเมืองหลวง 11 แห่ง แล้วตะโกนว่า “Out Temer” หรือ “เทเมอร์ออกไป!”

กลุ่มศิลปินบุกยึดอาคารวัฒนธรรมเมื่อวันศุกร์ แสดงความไม่พอใจนโยบายการยุบกระทรวงวัฒนธรรมของรักษาการประธานาธิบดีคนใหม่

 

O presidente interino Michel Temer coordena a primeira reunião ministerial de seu governo, às 9h, no Palácio do Planalto
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของ มิเชล เทเมอร์ ที่ถูกครหาว่ามีแต่ผู้ชายผิวขาว

B8YXVfLIQAEHUd1

ดิลมา รูซเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิลที่เพิ่งถูกปลดออกจากตำแหน่ง

มาเชียส สเป็กเตอร์ นักวิชาการจากบราซิลกล่าวถึงเทเมอร์ว่า เทเมอร์ซึ่งวันนี้อายุ 75 ปี เป็นตัวแทนของบราซิลยุคเก่าเก็บ เขาไม่เข้าใจว่าสังคมบราซิลมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าเขาไปเดินตามท้องถนน คนส่วนใหญ่จะไม่โหวตให้เขาหรอก และเขาจะไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดี (หากไม่ได้ไต่เต้าจากรองประธานาธิบดี ดังที่เพิ่งทำ) และนั่นทำให้คนมองเขาว่า เป็นเหมือนแฟรงก์ อันเดอร์วูด ในละครชุดเฮาส์ ออฟ คาร์ดส (House of Cards) ที่ว่าด้วยเกมการเมืองในทำเนียบขาวสหรัฐฯ ซึ่งตัวเอกวางแผนสารพัดเพื่อดีดประธานาธิบดีทิ้งแล้วดันตัวเองขึ้นมา

แต่หากเรื่องการคอร์รัปชั่นนั้นมีมูลจริง ทำไมการโค่นอำนาจของรูซเซฟฟ์จึงเพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ แทนที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยแรก ก่อนเธอจะได้รับเลือกตั้งซ้ำเข้ามาใหม่เมื่อปี 2015

รูซเซฟฟ์ อายุ 68 ปี เป็นนักการเมืองจากพรรค Partido dos Trabalhores หรือ PT ซึ่งเป็นพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย ภายใต้การนำของ ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ ลูลา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า

พรรค PT ก่อตั้งเมื่อปี 1980 เป็นพรรคการเมืองที่ชูจุดยืนต่อต้านเผด็จการทหารที่ยึดครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1964 จุดยืนของพรรคเน้นแนวทางสังคมนิยม ต่อต้านความเป็นจักรวรรดินิยม ซึ่งแน่นอนว่า ในมุมมองของทหารและสถาบันการเมืองดั้งเดิม ย่อมมองว่า PT เป็นพรรคการเมืองอันตรายที่ทำลายโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนสหรัฐอเมริกาก็คงมองว่า จุดยืนการต่อต้านจักรวรรดินิยมของ PT มุ่งที่จะต่อต้านอเมริกา มหาอำนาจที่พยายามสร้างบทบาทการเมืองในแถบละตินอเมริกา

ที่น่าสนใจคือ PT ก็ไม่ได้เข้าสู่อำนาจผ่านวิธีการแบบกบฎสู้รบแบบกองโจร แต่มาได้ด้วยการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภา ลูลาได้รับเลือกตั้งเข้ามาในปี 2003 และเป็นขวัญใจมวลชน ดำรงตำแหน่งสองสมัยซ้อน ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าในบราซิลไม่เคยคาดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น และก็ไม่ยอมรับด้วย พ้นจากลูลา ก็ตามมาด้วยรูซเซฟฟ์ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 2010 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2015

แต่ความนิยมของพรรค PT เริ่มลดลงหลังภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ และเกิดเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในบริษัทน้ำมันเปโตรบราส รัฐวิสาหกิจน้ำมันของบราซิลที่เกิดขึ้นในช่วงที่รูซเซฟฟ์เป็นประธานบริหารในช่วงปี 2003-2010 ว่าผู้บริหารเปโตรบราสรับเงินสินบนโดยที่รูซเซฟฟ์น่าจะมีส่วนรู้เห็น จนกระทั่งปฏิบัติการถอดถอนด้วยข้อหาตกแต่งบัญชี ซึ่งทำให้พรรคแรงงานฝ่ายซ้ายที่ครองอำนาจต่อเนื่องมานาน 13 ปีต้องถอยให้กับนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

การคอร์รัปชั่นในสังคมบราซิล เป็นเหมือนโรคระบาดที่กระจายไปทั่วในเหล่านักการเมืองบราซิล แม้กระทั่งนักการเมืองใน PT ก็ไม่พ้นความด่างพร้อยนี้ แต่หากเทียบกันแล้ว ดิลมา รูซเซฟฟ์ มีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยแปดเปื้อนด้วยเรื่องโกงเท่าไรนัก สำหรับสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีของกระบวนการถอดถอนกลับเป็นผู้ที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นยิ่งกว่า ซึ่ง บัวเวนตัวรา ดอยส์เซาซา ซานโตส (Boaventura dos Sousa Santos) นักสังคมวิทยาชาวโปรตุเกส อธิบายสถานการณ์นี้ว่า นักการเมืองที่ซื่อสัตย์กำลังถูกปลดโดยนักการเมืองสุดยอดคอร์รัปชั่น

แต่ บัวเวนตัวรา ดอยส์ เซาซา ซานโตส มองว่า รูซเซฟฟ์ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักในการถอดถอนครั้งนี้ เพราะตามกฎหมายบราซิล ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเกิน 2 สมัยไม่ได้ เป้าหมายที่แท้จริงจึงน่าจะเป็น “ลูลา” ผู้ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2019

ลูลาเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แม้เขาเคยมีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ แต่ก็ยังดูเหมือนว่าคนยังชื่นชอบและเขายังมาแรงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น วิธีต้านเขาได้ ก็คือการทำให้เขาเจอข้อหาคอร์รัปชั่นที่จะทำให้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไป

แล้วบราซิลจะไปทางไหนต่อไป นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ในขณะที่บราซิล ภายใต้การนำของ PT ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะหนึ่งคือ อุดมการณ์แบบ ซ้าย-ขวา ในสังคมไม่ได้สุดโต่งชัดเจนเหมือนประเทศอื่นๆ รอบข้าง ซึ่งก็เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของ PT ที่วางจุดยืนตัวเองให้มีสมดุลระหว่างปีกซ้ายและปีกขวา แต่บทเรียนและแนวโน้มจากหลายประเทศในโลก คล้ายจะบอกว่า ประชาชนอาจมีท่าทีปฏิเสธต่อกลุ่มการเมืองที่มีจุดยืนกลางๆ

ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ นักการเมืองปีกขวาคงต้องหาหนทางให้ได้เป็นประธานาธิบดี แล้วทหารก็คงหาช่องทางเข้าสู่อำนาจ ส่วน PT ก็ดูจะไปต่อไม่ได้แล้ว เรื่องนี้ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ นักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เห็นว่าทางที่ PT จะทวงคืนอำนาจกลับมาได้ ก็คือการหันกลับไปที่จุดยืนรากฐานของพรรค ในฐานะพรรคฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม ซึ่งก็ไม่ง่ายสำหรับโลกสมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่ฝ่ายซ้ายทั่วโลกก็กำลังตะเกียกตะกายอยู่

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: