กฎหมายสิทธิที่จะตาย ประกาศใช้ในแคนาดาแล้ว

ในที่สุด ร่างกฎหมาย C-14 (assisted dying bill) ที่ว่าด้วยการขอตายโดยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือการ “การุณยฆาต” ก็ประกาศใช้ในแคนาดาอย่างเป็นทางการแล้ว

แต่กว่าจะผ่านสภาได้ ก็ถูกปรับเนื้อหาไปมาก ซึ่งกำหนดขอบเขตอย่างแคบ ให้คนที่มีสิทธิการตายซึ่งจะขอให้แพทย์ช่วยจบชีวิตให้ได้นั้น มีเพียงผู้ป่วยที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะต้องตายจากอาการป่วยนั้นๆ

ร่าง C-14 เสนอโดยรัฐบาลจากพรรคเสรีนิยมของนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) และได้รับการลงนามเป็นกฎหมายแล้วในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

แต่กว่าที่ร่างฯ ฉบับนี้จะผ่านออกมาได้ ก็ต้องผ่านการถกเถียงกันในสภาอย่างร้อนแรง ประเด็นใหญ่คือการให้นิยามว่า ใครบ้างที่จะมีคุณสมบัติเข้าข่ายให้รับการช่วยเหลือให้เสียชีวิตได้ และจะครอบคลุมถึงบุคคลที่ป่วยจนทุกข์ทรมาน แต่อาจจะยังไม่ใกล้เสียชีวิตได้หรือไม่

ภายใต้ข้อถกเถียงมากมาย ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของจัสติน ทรูโด ยอมปรับร่างให้นิยามแคบลง จนถูกขนานนามว่าเป็นกฎหมายเวอร์ชั่น “ประนีประนอมแบบแคเนเดียน” หรือ “Canadian compromise” มันถูกวิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัดของการตาย เช่น ร่างฯ นี้ไม่รวมถึงคนที่มีสภาวะร่างกายเสื่อมถอย เช่น เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Sclerosis) ที่จะขอความช่วยเหลือให้จบชีวิตได้

ผลการอภิปรายลงเอยที่ว่า ผู้มีสิทธิขอตายได้ คือผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าจะเสียชีวิตด้วยอาการดังกล่าว

จิม มุนซัน วุฒิสมาชิกสายเสรีนิยมกล่าวว่า มีกฎหมายย่อมดีกว่าไม่มี ส่วนฝ่ายรัฐบาลผู้เสนอร่างก็กล่าวว่า นี่ถือเป็นก้าวแรก มันสามารถขยายนิยามได้มากขึ้นในอนาคต

ในแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างรัฐมนตรียุติธรรมและรัฐมนตรีสาธารณสุข ความตอนหนึ่งระบุว่า ร่างกฎหมายนี้สร้างสมดุลที่ดีระหว่างอธิปไตยของปัจเจกบุคคลที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อจบชีวิต และคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอ

นักวิจารณ์บางส่วนมองว่า ร่าง C-14 นี้ยังมีเนื้อหาไปได้ไม่ไกลเท่าคำพิพากษาคดีดังเมื่อปี 2015 กรณีของ เคย์ คาร์ตัน ผู้ป่วยชาวแคนาดาที่ตัดสินใจเดินทางไปจบชีวิตลงอย่างถูกกฎหมายที่สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาครอบครัวของเธอยื่นเรื่องต่อศาล จนศาลสูงมีมติเอกฉันท์ที่กำหนดว่า ผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนป่วยใกล้ตาย แต่เป็นคนที่ป่วยหนัก ก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะขอความช่วยเหลือจากแพทย์ให้ช่วยจบชีวิตลงได้

ปัจจุบัน การช่วยเหลือให้เสียชีวิต หรือที่บางประเทศเรียกว่า การุณยฆาต เป็นเรื่องถูกกฎหมายสำหรับประเทศเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ แอลเบเนีย ญี่ปุ่น และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา
ที่มา:

ที่มาภาพ: Alex Guibord