สัปดาห์ที่แล้ว สภาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจถอนใบสมัครการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ถือเป็นการเคลื่อนไหวในช่วงประจวบเหมาะโค้งสุดท้าย ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะลงประชามติว่าจะยังคงอยู่หรือแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ดิเดียร์ บูร์กคาลเทอร์ (Didier Burkhalter) รัฐมนตรีต่างประเทศให้เหตุผลเพียงว่า ต้องการให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีอธิปไตยที่เป็นอิสระ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์ไม่เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่มีข้อตกลงด้านการค้าเสรีและอยู่กลุ่มประเทศที่ใช้วีซ่าเชงเก้น จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประชาชนชาวสวิสฯ ทำประชามติว่าต้องการให้มีมาตรการกำหนดโควต้าสำหรับแรงงานต่างชาติ แต่สหภาพยุโรปกล่าวว่าถ้าจะสร้างเงื่อนไขเรื่องการเคลื่อนไหวข้ามแดนอย่างเป็นอิสระ ก็หมายความว่าข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ต้องถูกระงับไปด้วย
แนวคิดเรื่องจะให้สวิตเซอร์แลนด์ส่งใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมีขึ้นมาตั้งแต่ปี 1992 แต่เรื่องนี้ถูกระงับไปพักใหญ่ การตัดสินใจถอนใบสมัครครั้งนี้ก็มาเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงก่อนวันลงประชามติ Brexit ว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ร่วมในสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งจะลงคะแนนกันในวันที่ 23 มิ.ย. นี้
การโหวต Brexit ของอังกฤษไม่เพียงสร้างประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับด้านดีและด้านเสียของการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกอียู แต่มันยังจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ ตั้งคำถามเดียวกันนี้ เช่นที่เนเธอร์แลนด์ หนังสือพิมพ์ De Telegraaf ก็มีข้อมูลว่าประชาชนร้อยละ 88 อยากให้ทำประชามติหัวข้อนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนร้อยละ 88 อยากให้เนเธอร์แลนด์ออกจากอียู เพียงแต่อยากจะพิสูจน์อีกครั้งว่าประชาชนคิดเห็นกันอย่างไร
ในเดนมาร์กเองก็ค่อยๆ มีข้อกังขาของการเป็นสมาชิกอียู โดยเมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมา ชาวเดนมาร์กลงประชามติว่าไม่อยากให้ “ยูโรโพล” (Europol) หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหภาพยุโรปมาทำหน้าที่ข้ามพรมแดน ด้านนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ลาร์ส เลิกเกอ รัสมุสเซิน (Lars Loekke Rasmussen) ก็มีท่าทีกังวลว่า ประชามติการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะทำให้ข้อกังขาต่อการเป็นสมาชิกอียูภายในประเทศเดนมาร์กคุกรุ่นขึ้นมา แต่เขาย้ำว่า เดนมาร์กจะยังคงอยู่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป ไม่ว่าผลของประชามติในสหราชอาณาจักรจะออกมาอย่างไร
ที่มา: Daily Express, Townhall,
ที่มาภาพ: eGuide Travel