หลังคะแนนมาสูสีและผลโพลล์สำนักต่างๆ คาดการณ์พลาด ในที่สุดผลก็ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าประชาชนบริติชส่วนใหญ่ ร้อยละ 52 ต้องการให้สหราชอาณาจักร “ออก” (Leave) จากสหภาพยุโรป ขณะที่เสียงที่ต้องการให้อยู่ต่อ (Remain) มีเพียงร้อยละ 48 นอกจากนี้ การลงประชามติครั้งนี้ยังมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ คือจำนวนร้อยละ 72 ของผู้มีสิทธิออกเสียง
ภายหลังผลออกมาอย่างเป็นทางการไม่กี่ชั่วโมง นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย ท่าทีและการตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะการลงประชามติเบร็กซิต (Brexit) ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะเขาเป็นผู้ริเริ่ม เพราะเคยไปให้คำสัญญาไว้ตอนหาเสียงว่า หากเขาเป็นนายกฯ ก็จะให้มีการลงประชามติออกจากอียู ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีพื้นฐานความไม่พอใจของประชาชนที่ไม่ชอบใจให้สหราชอาณาจักนไปรวมตัวกันในสหภาพยุโรป เพราะมองว่าตัวเองเสียเปรียบในการรวมกลุ่มของอียู อย่างไรก็ดี ตลอดการรณรงค์ นายเดวิด คาเมรอน ประกาศชัดตลอดมาว่าเขาเองมีจุดยืนว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอียูต่อไปดังเดิม
หลังผลออกมาเช่นนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของประเทศในยุโรป ตัวเดวิด คาเมรอน ประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งจนเดือนตุลาคมนี้ และยื้อเวลาว่า เขาจะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ดำเนินการตามมาตรา 50 ของกฎหมายสหภาพยุโรป เรื่องการขอลาออกจากการเป็นสมาชิกไปยื่นต่อสภายุโรป แต่จะให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำหน้าที่นี้
ทั้งนี้ ภายหลังสหราชอาณาจักรยื่นคำร้องขอลาออกแล้ว ต้องรอการรับรองจากประเทศสมาชิก และสหราชอาณาจักรจะมีเวลา 2 ปี เพื่อจัดการข้อตกลงพันธะต่างๆ ที่มีต่อประเทศต่างๆ ที่จะต้องเปลี่ยนไปเมื่อออกจากสมาชิกภาพของอียู