เมื่อ 4 ก.ค. 59 ไนเจิล ฟาราจ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคยูคิป (UKIP) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดอังกฤษ ที่มีบทบาทหลักในการรณรงค์เรื่องเบร็กซิท (Brexit) เผย ชนะประชามติ ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว
นับแต่ประชามติเบร็กซิท นายไนเจิล ฟาราจ ถือเป็นนักการเมืองของอังกฤษคนที่สามที่ประกาศล่าถอยจากตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ริเริ่มให้ทำประชามติทั้งที่ตัวเองไม่เห็นด้วยกับ Brexit พรรคอนุรักษ์นิยมของนายคาเมรอนจึงต้องหาตัวผู้นำคนใหม่ แต่แล้ว นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีลอนดอนซึ่งเป็นตัวเก่งอันดับหนึ่ง ก็ถูกเกมการเมืองในพรรคทำให้ต้องประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ไม่เพียงเท่านั้น การเมืองในอังกฤษตกอยู่ในความวุ่นวายทุกๆ ฝ่าย รวมถึงในพรรคแรงงานซึ่ง นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำของพรรคก็ถูกลงมติไม่ไว้วางใจเพราะถูกวิจารณ์ว่าไม่จริงจังพอในการรณรงค์แคมเปญให้ “อยู่ต่อ” (Remain)
ฟาราจตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุของการลาออกครั้งนี้ว่า “เมื่อช่วงการรณรงค์ประชามติ ผมกล่าวว่าผมต้องการประเทศของผมคืน วันนี้ สิ่งที่ผมจะพูดคือ ผมต้องการได้ชีวิตของผมคืน และมันเริ่มต้นนับแต่นี้”
“ชัยชนะของฝ่ายให้ออก (Leave) ในประชามติมันหมายความว่า ความทะเยอทะยานทางการเมืองของผมบรรลุเป้าหมายแล้ว”… “ผมซึ่งเดิมอยู่ภาคธุรกิจ ก้าวเข้ามาต่อสู้เพราะอยากให้เราเป็นประเทศที่ปกครองตนเอง ไม่ได้คิดจะมีอาชีพเป็นนักการเมือง” ฟาราจกล่าว
อย่างไรก็ดี ฟาราจบอกว่าเขาจะยังเก็บเก้าอี้ในสภายุโรปต่อไปเพื่อติดตามกระบวนการเจรจาในช่วงที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียู
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟาราจลาออก เพราะเมื่อปี 2015 หลังประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้ง เขาในฐานะผู้นำพรรคต้องแสดงสปิริตประกาศลาออก แต่ทางพรรคไม่ยอมรับใบลาออก แต่เขายืนยันว่า ครั้งนี้เขาไม่เปลี่ยนใจกลับมารับตำแหน่งแน่นอน
ทั้งนี้ จากผลประชามติ นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้มาตรา 50 สนธิสัญญาลิสบอน ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการลาออกจากสมาชิกสหภาพ โดยสหราชอาณาจักรต้องเร่งเจรจากับแต่ละประเทศเพื่อสานต่อข้อตกลงให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่นายคาเมรอนประกาศลาออกและยกให้พันธกิจเหล่านี้เป็นของนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งความซับซ้อนของการเมืองอังกฤษเวลานี้ทำให้ยังไม่เห็นภาพชัดว่าบุคคลใดจะมารับนายกรัฐมนตรียุค “เบร็กซิท” นี้