สื่อเยอรมันเหวอ ถูกรัฐบาลตุรกียึดเทปสัมภาษณ์คามือ

DW หรือ ดอยเช่อ เวลเล่อ (Deutsche Welle) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเยอรมัน เพิ่งเจอกับสถานการณ์การแทรกแซงสื่อด้วยวิธีโบราณและชัดเจน เมื่อนักข่าวเข้าสัมภาษณ์รัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬา แต่พอถ่ายทำเสร็จ จะเดินกลับ กลับถูกล้อมเพื่อจะยึดเทปบันทึกภาพ

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อราววันที่ 5 กันยายน 2016 เมื่อมิเชล ฟรีดแมน (Michel Friedman) พิธีกรของรายการ The Conflict Zone หรือ พื้นที่ความขัดแย้ง ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเยอรมัน DW ได้สัมภาษณ์รัฐมนตรี อากิฟ ชาไท คิลิช (Akif Çağatay kılıç) เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ความพยายามก่อรัฐประหาร เสรีภาพสื่อ และสถานะของผู้หญิงในตุรกี

ภายหลังถ่ายทำเสร็จสิ้น ทั้งสองฝ่ายต่างจับมือร่ำลากัน ทีมงานของรายการก็เก็บข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ เตรียมจะเดินทางกลับ แต่ไม่ทันที่จะเดินก้าวพ้นออกจากรั้วกระทรวง ทีมงานก็ได้รับโทรศัพท์ระบุว่า รัฐมนตรีคิลิชอยากจะขอฟุตเทจของการสัมภาษณ์นี้

แน่นอนว่าทีมงานรายการ The Conflict Zone ไม่ยอม แต่ทีมงานของรัฐมนตรีเข้ามาล้อม ทำให้ DW ไม่มีทางเลือก ต้องรับมือกับการถูกข่มขู่ ยอมให้ถูกยึดเทปไปต่อหน้าต่อตา

และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 ก.ย.) สถานีโทรทัศน์ DW ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลแพ่งในกรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศตุรกี เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีคิลิชคืนเทปวิดีโอ ผู้บริหารของ DW ระบุว่า ทางสถานีไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และจำเป็นต้องทำให้ประชาชนรับรู้ถึงจุดยืนเรื่องเสรีภาพสื่อของเยอรมนี

ตุรกีผ่านเหตุการณ์จราจลในประเทศครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ซึ่งมีทหารกลุ่มหนึ่งพยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ต้านทานเอาไว้ได้ แต่เหตุการณ์นี้กลับยิ่งเปิดช่องให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันถือโอกาสใช้อำนาจทำลายฝ่ายตรงข้าม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง

องค์กรสื่อไร้พรมแดน หน่วยงานด้านเสรีภาพสื่อระดับโลก จัดอันดับเสรีภาพสื่อของประเทศตุรกีอยู่ในอันดับที่ 161 จาก 180 ประเทศ โดยระบุว่าตุรกีได้กลายเป็นผู้นำของโลกในด้านการจับนักข่าวเข้าคุก ที่ผ่านมามีสื่อกว่า 100 แห่งถูกสั่งปิด และนักข่าว 42 รายถูกจับขัง มีสื่ออีกจำนวนมากถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย 15 แห่งและโรงเรียนเอกชนอีกกว่าพันแห่งถูกสั่งปิด ประชาชนกว่า 40,000 คนถูกควบคุมตัว และมีพนักงานของรัฐอีกกว่า 80,000 รายถูกสั่งพักงานและให้ออกจากงาน และกล่าวได้ว่า จากเหตุการณ์พยายามก่อรัฐประหารที่แม้ไม่สำเร็จ แต่ก็เปิดทางให้ประเทศตุรกีก้าวเข้าสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ

ที่มา: