การใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำตามที่หมอแนะนำอาจช่วยทำความสะอาดช่องปากได้ แต่ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดเผยว่า การคิดค้นและประโยชน์ที่ได้จากการใช้ไหมขัดฟันนี้ ยังไม่เคยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รับรองเอาไว้
หลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลกลาง องค์กรด้านทันตกรรม และรวมถึงภาคธุรกิจผู้ผลิตไหมขัดฟัน ต่างผลักดันแนวปฏิบัติด้านสุขภาพที่มีข้อหนึ่งเตือนว่า ให้พยายามใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพื่อดูแลรักษาเหงือกและฟัน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ไหมขัดฟันนี้มาตั้งแต่ปี 1979 โดยเริ่มเผยแพร่ในรายงานของศัลยแพทย์ทั่วไป และต่อมาก็เผยแพร่ในแนวปฏิบัติทางโภชนาการสำหรับชาวอเมริกันซึ่งเผยแพร่ทุกๆ 5 ปี
ตามกฎหมายระบุว่า ข้อมูลในแนวปฏิบัติดังกล่าวต้องยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว AP จึงลองทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ และและกระทรวงเกษตร เพื่อขอดูเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับเกี่ยวกับเรื่องไหมขัดฟัน ซึ่งอ้างสิทธิตามกฎหมายเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร
หลังมีคำถามดังกล่าว ปรากฏว่าในปีนี้ คำแนะนำเรื่องการใช้ไหมขัดฟันที่เคยเขียนเอาไว้ในแนวปฏิบัติทางโภชนาการก็หายไป และรัฐบาลกลางก็ตอบจดหมายถึงผู้สื่อข่าว AP ยอมรับว่า ประสิทธิผลของการใช้ไหมขัดฟันนั้นไม่เคยมีการวิจัยรับรอง
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าว AP ไปค้นงานวิจัยที่มีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีงานศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง 25 กรณี เปรียบเทียบการใช้แปรงสีฟันอย่างเดียว กับการใช้แปรงสีฟันร่วมกับไหมขัดฟัน ผลการวิจัยพบว่า สิ่งยืนยันเกี่ยวกับผลจากการใช้ไหมขัดฟันนั้นค่อนข้างอ่อน เชื่อถือไม่ได้ ถือเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพต่ำมาก
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจารณ์แย้งว่า งานศึกษาเรื่องประโยชน์ของไหมขัดฟัน ส่วนใหญ่ล้มเหลวในการพิสูจน์ว่าการใช้ไหมขัดฟันมีประสิทธิผลในการขจัดคราบหินปูน ในงานศึกษาอีกชิ้นที่ทำขึ้นเมื่อปี 2011 ระบุว่า การใช้ไหมขัดฟันมีผลเล็กน้อยในการลดอาการเหงือกอักเสบ แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นดังกล่าวก็ถูกจับอันดับว่า มีหลักฐานที่เชื่อถือไม่ได้อย่างมาก
องค์กรสององค์กรหลักในสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้อง คือ สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (ADA) และ สถาบันปริทันต์แห่งอเมริกา (AAP) อ้างงานศึกษาที่สนับสนุนประโยชน์ของไหมขัดฟันว่าช่วยป้องกันหินปูน ป้องกันเหงือกอักเสบ และป้องกันฟันผุ อย่างไรก็ดี งานศึกษาที่อัางถึงเหล่านั้นล้วนใช้วิธีการที่ล้าสมัยหรือทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างเพียงเล็กน้อย เช่นงานศึกษาบางชิ้นใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์ ซึ่งน้อยเกินไปที่จะเห็นพัฒนาการของปัญหาฟันผุหรือโรคทันตกรรมใดๆ งานอีกชิ้นหนึ่งทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างเพียง 25 คนที่ทดสอบหลังใช้ไหมขัดฟันเพียง 1 ครั้ง
Wayne Aldredge ประธานกลุ่มปริทันตวิทยา ยอมรับว่างานศึกษาจำนวนมากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อ่อนมาก และใช้เวลาศึกษาเพียงระยะสั้น ซึ่งผลจากการใช้ไหมขัดฟันน่าจะชัดขึ้นหากงานวิจัยมุ่งไปที่ผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคเหงือกอย่างผู้ป่วยเบาหวานและคนสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี เขาเองก็เป็นหมอคนหนึ่งที่แนะนำให้คนไข้ใช้ไหมขัดฟัน แต่คนจำนวนมากใช้ไหมขัดฟันผิดวิธี โดยใช้วิธีขัดแบบฟันปลาแทนที่ที่ขยับขึ้นลง
สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน หรือ ADA ก็ออกแถลงการณ์ส่งถึงสำนักข่าว AP ด้วยว่า การใช้ไหมขัดฟันช่วยขจัดคราบผิดปูน และได้รับการพิสูจน์ว่ามันช่วยขจัดเศษระหว่างซอกฟัน และในวิดีโอบนเว็บไซต์ของสมาคมก็ยืนยันว่ามันช่วยป้องกันโรคเหงือก แต่เมื่อลงรายละเอียดลึกลงไป โฆษกของสมาคมก็ยอมรับว่า หลักฐานที่จะยืนยันเรื่องนี้ได้ค่อนข้างอ่อน แต่เขาโทษว่าเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี
จากข้อมูลของ MarketSizeInfo ระบุว่า ในปีหน้านี้ คาดว่า ธุรกิจไหมขั้นฟันทั่วโลกจะทำเงินได้สองพันล้านบาท ซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นเป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทเหล่านี้ก็เจอความยากในการหาหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่าไหมขัดฟันช่วยลดคราบหินปูนหรือโรคเหงือกอักเสบได้ ซึ่งภาคอุตสากรรมก็ทุ่มทุนไปกับงานศึกษาจำนวนมากและบางครั้งถึงขั้นออกแบบงานวิจัยเองด้วย
เมื่อถามไปยังผู้ผลิตต่างๆ P&G อ้างถึงงานวิจัยที่ใช้เวลาเก็บข้อมูล 2 สัปดาห์ซึ่งถูกวิจารณ์เมื่อปี 2011 ว่าไม่น่าเชื่อถือ โฆษกของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ย้ำว่ามันช่วยลดคราบหินปูน แต่เมื่อผู้สื่อข่าวAP ส่งเอกสารที่ให้ข้อมูลที่แย้งไป ทางบริษัทยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
สมาคมทันตแพทย์อเมริกันยังมีดีลที่ทำกับบริษัทต่างๆ โดยชักชวนให้บริษัทเข้าโปรแกรมสัญลักษณ์รับรอง (Seal of Acceptance program) ซึ่งหากบริษัทใดได้ตรารับรองจากทางสมาคมก็น่าจะมีแนวโน้มให้คนเชื่อมั่นและตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น โดยบริษัทหนึ่งๆ จะต้องส่งสินค้าเข้ารับการประเมิน โดยมีค่าธรรมเนียมการประเมินที่ 14,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และหากผ่านการประเมิน บริษัทก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียบรายปีอีกปีละ 3,500 ดอลลาร์
ทางสมาคมระบุว่า สมาคมประเมินผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเข้มงวดและไม่ได้ทำกำไรได้จากสิ่งนี้ อย่างไรก็ดี Marcelo W.B. Araujo ทันตแพทย์ รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์แห่ง ADA ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้บริหารของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุว่า วิธีการศึกษารวมถึงงบประมาณที่ใช้ในการประเมิน อาจจะมาจากบริษัทต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ไหมขัดฟันได้รับการคิดค้นขึ้นโดยทันตแพทย์ Levi Spear Parmly ซึ่งได้สิทธิบัตรไปเมื่อปี 1874 แต่ก็เป็นการคินค้นขึ้นโดยที่ไม่ได้มีข้อพิสูจนถึงประโยชน์ของมัน
ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกามีคำแนะนำให้ประชาชนใช้ไหมขัดฟัน แต่ทางอังกฤษไม่ได้รับอิทธิพลเรื่องนี้ ทันตแพทย์ Damien Walmsley ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของสมาคมทันตแพทย์บริติช เป็นหนึ่งในผู้ตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ เขากล่าวว่า มันสำคัญที่จะแนะนำให้คนต้องทำในสิ่งพื้นฐาน แต่การใช้ไหมขัดฟันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพื้นฐานเหล่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีงานวิทยาศาสตร์พิสูจน์หรือบอกความเชื่อมโยงไปถึงประโยชน์ของไหมขัดฟันได้ แต่เช่นเดียวกัน ก็ไม่มีงานไหนบอกว่าใช้ไหมขัดฟันแล้วจะไร้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดโทษ (หากไม่นับการใช้ไหมขัดฟันผิดวิธี) เรื่องนี้จึงอาจพอจะสะท้อนถึงข้อจำกัดของการวิจัย และปัญหาของการไม่ยอมลงทุนทำวิจัยแบบที่เก็บข้อมูลจริงจังแบบระยะยาวมากกว่า
Tim Iafolla ทันตแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า มันน่าจะเป็นเรื่องที่สมควรแล้วที่จะเอาเรื่องการใช้ไหมขัดฟันออกไปจากคำแนะนำด้านสุขภาพ แต่เขาก็เชื่อว่า ชาวอเมริกันก็จะยังคงขัดฟันต่อไป เพราะมันดูเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนต่ำ และก็ดูน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีประโยชน์ ดังนั้น เขาในฐานะทันตแพทย์เองก็ยังสบายใจอยู่ที่จะแนะนำให้คนใช้ไหมขัดฟันต่อไป
ที่มา: Jeff Donn. Medical benefits of dental floss unproven. AP. 2 August 2016.
ที่มาภาพ: muklinika