The Arab of the Future: เมื่อ “อาหรับแห่งอดีต” ฝันถึง “อาหรับแห่งอนาคต”

The Arab of the Future
The Arab of the Future (2015) โดย Riad Sattouf

โดย บานอฟฟี

ว่ากันว่า graphic memoir ชุดนี้ขึ้นแท่นผลงาน “คลาสสิค” เทียบเท่า Maus ของ Art Spiegelman และ Persepolis ของ Marjane Satrapi ไปเรียบร้อยแล้ว

The Arab of the Future (2015) เป็นซีรีย์บันทึกความทรงจำ 3 เล่มจบ ของ Riad Sattouf นักวาดการ์ตูนวัย 38 ปี อดีตคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารเสียดสีสัญชาติฝรั่งเศส Charlie Hebdo โดยเล่มแรกนี้ว่าด้วยเหตุการณ์ในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต (1978-1984) ที่เขาติดสอยห้อยตามพ่อแม่จากบ้านเกิดที่ฝรั่งเศสไปอยู่ที่ลิเบียในสมัย Gaddafi ตามด้วยซีเรียในสมัย al-Assad คนพ่อ

เหตุที่เขาต้องชีพจรลงเท้าตั้งแต่เล็กๆ ก็เพราะว่าพ่อของเขา นาย Abdul-Rasak ที่มาพบรักกับแม่ชาวฝรั่งเศสเมื่อตอนได้ทุนมาทำปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ที่ปารีส เป็นนักวิชาการชาวซีเรียนที่มีแนวคิดชาตินิยมอาหรับแรงกล้า

Abdul-Rasak เป็นมุสลิมนิกายซุนนีที่ไม่เคร่งศาสนาและรักในบรรยากาศของเสรีภาพในฝรั่งเศส เขามองว่าการศึกษาจะทำให้ชาวซีเรียหายโง่และงมงาย ขณะเดียวกัน เขาชื่นชอบผู้นำที่มีความโหดเหี้ยม สนับสนุนการทำสงคราม แม้ว่าตัวเองจะเลือกมาเรียนต่อต่างประเทศเพื่อจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร และยังหวังจะเป็นผู้นำทำการรัฐประหารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ความขัดแย้งในตัวเองแบบไม่รู้ตัวเลยสักนิดของ Abdul-Rasak ถือเป็นเสน่ห์อย่างมากของตัวละครตัวนี้ เราจะบอกว่าเขาเป็นภาพ “คลิเช่” ของพวกผู้ชายอาหรับก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราได้เห็นว่าอีโก้ที่สูงส่งติดเพดาน และความยึดมั่นอยู่กับจินตนาการและภาพฝันของตัวเอง สามารถพาชีวิตคนๆ นึงและครอบครัวไปสู่อะไรบ้าง

หลังจากเรียนจบป.เอก ด้วย cum laude (คิดแบบไทยก็น่าจะประมาณเกียรตินิยมอันดับสอง) Abdul-Rasak โทษทัศนคติเหยียดผิว (racist) ของชาวฝรั่งเศส –อะแฮ่ม! ตัวเขาเองดูถูกและรังเกียจคนแอฟริกันมากๆ– ที่ทำให้เขาไม่ได้คะแนนสูงกว่านี้ เขาตัดสินใจสมัครงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนอกประเทศฝรั่งเศส และได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัย Oxford

เขาน่าจะคลายความคับแค้นใจต่อพวกชาวยุโรปไปได้บ้าง หากจดหมายจากอังกฤษฉบับที่ว่าไม่ได้สะกดชื่อเขาผิด! ในที่สุดเขาเลือกไปเป็นอาจารย์ที่ลิเบียแทน

the-arab-of-the-future-11 the-arab-of-the-future-12
Riad ในวัยสองขวบที่มีผมสีบลอนด์เป็นลอน จึงมีโอกาสได้ไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่เป็น “สมบัติสาธารณะ” (แปลว่า ถ้าเราทิ้งบ้านไว้โดยไม่มีคนเฝ้า คนอื่นสามารถเข้ามาอยู่แทนได้เลย การทำล็อคที่ประตูเป็นเรื่องผิดกฎหมาย) ได้ตามพ่อหรือแม่ (สลับวันกันไปเพราะมีระเบียบแยกหญิงชาย) ไปต่อคิวขอรับอาหาร และได้ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านวัยเดียวกันเพื่อพากันตะโกนร้องเพลงชาติลิเบียเล่นยามว่าง

เมื่อ Gaddafi ออกกฎหมายสลับอาชีพ ให้ชาวนาไปเป็นครูส่วนครูไปเป็นชาวนา Abdul-Rasak พาครอบครัวกลับมาฝรั่งเศสเพื่อหางานใหม่ และก็อีกครั้ง เขาตัดสินใจด้วยเหตุผลแบบ “อาหรับนิยม” โดยเลือกไปทำงานที่ซีเรียบ้านเกิด

เราไม่แน่ใจว่าแม่ของ Riad อยู่ในภาวะตกกะไดพลอยโจน หรือว่าเป็นคนมีปรัชญาชีวิตแบบ “ถึงไหนถึงกัน” จึงมีความอดทนสูงส่งขนาดที่เรียกได้ว่าผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่กับผู้ชายที่มีทัศนคติที่เธอไม่เห็นด้วยแทบจะทุกอย่าง

กระทั่งเมื่อเธอท้องลูกคนที่สอง แล้วเขาบอกว่าจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น
กระทั่งเมื่อเธอเข้าใจว่าเขาจะพาครอบครัวย้ายกลับไปทำงานที่ฝรั่งเศสแต่เขากลับไปสมัครงานที่ซีเรีย
กระทั่งเมื่อ Riad ถูกลูกพี่ลูกน้องเกเรด่าทอสารพัดแต่เขาก็ไม่ยอมให้ตอบโต้เหตุเพราะว่าเป็นญาติกัน

บุคลิกยอมจำนนอย่างประหลาด (ถึงแม้จะมีการเถียงเสียงเบาบ้างเป็นบางครั้ง) ของแม่ ที่ขัดแย้งแบบเกือบเป็นขั้วตรงข้ามกับพ่อ เป็นตัวดึงคนอ่านกลับมาสู่ความจริงที่ว่า นี่คือ “เรื่องเล่า” ของนักวาดการ์ตูนเสียดสีที่ถูกเล่าผ่านปากของเขาเองในวัยก่อนอนุบาลซึ่งไม่น่าจะปะติดปะต่ออะไรได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แม้มันจะได้ชื่อว่าเป็น “บันทึกความทรงจำ” ซึ่งโดยนัยก็คือเป็น “เรื่องจริง” ที่มีเจ้าตัวมาเป็นคนเล่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ถูกบิดเบือน ทั้งโดยคำบอกเล่าจากคนอื่นที่ประกอบมาเป็นความทรงจำของเขาในวัยผู้ใหญ่ โดยทัศนคติของเขาเอง และโดยกระบวนการทำให้เป็นเรื่องเล่า ดูเหมือนว่าการที่ Riad เลือกพ่อให้เป็นตัวเอกฉาย(เกือบ)เดี่ยวที่มีสีสันฉูดฉาดอย่างยิ่ง ทำให้มิติความเป็นมนุษย์ของแม่ลดน้อยลงไปจนเหมือนจะกลายเป็นแค่ตัวประกอบอดทนในเรื่องราวชีวิตของเขาและพ่อไปในความเป็นจริง

เหตุการณ์เดียวที่แม่ดูจะมีอิทธิพลอย่างจริงจังต่อเขา ก็คือตอนที่แม่เปิดเพลงของ Georges Brassens ให้ฟัง พร้อมกับบอกว่า ในฝรั่งเศส ศิลปินผู้นี้ถือเป็น “พระเจ้า” เลยทีเดียว หลังจากนั้นต่อมา ถึงแม้ว่าพ่อจะได้ย้ำนักย้ำหนาไปแล้วว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนเทียบกับ “พระเจ้า” ได้ แต่เมื่อใครพูดถึง “God” หรือ “Lord” Riad ก็จะแทนภาพนั้นด้วย Brassens ในจินตนาการทุกครั้งไป

หากเทียบกับงานสองชิ้นที่พูดถึงไปในตอนต้น The Arab of the Future จัดว่า “บันเทิง” ที่สุด มันเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายและเต็มไปด้วยอารมณ์ขันที่ตรงไปตรงมา Riad ใช้สีเป็นตัวบอกประเทศที่เขาอยู่ สีฟ้าคือฝรั่งเศส เหลืองคือลิเบีย ส่วนแดงคือซีเรีย เหตุการณ์ในหลายฉากหลายตอนกระตุ้นความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งช็อค กระอักกระอ่วน สะเทือนใจ ทว่าลายเส้น น้ำเสียงผู้เล่า และจังหวะในการถ่ายทอดเหตุการณ์ อาจทำให้คนอ่านถึงกับหัวเราะออกมาแทน เป็นความขำขื่นในความ “บ้าบอคอแตก” ที่ผลักให้กระหายที่จะรู้เรื่องราวต่อไปเรื่อยๆ

the-arab-of-the-future-01

ในฉากหนึ่งที่ซีเรีย แม่เรียก Riad ที่นอนซมเพราะพิษไข้ไปดูเด็กๆ ในหมู่บ้านเล่นกับลูกหมาหลง (ตามหลักศาสนาอิสลาม หมาเป็นสัตว์สกปรก ชาวมุสลิมโดยทั่วไปจึงไม่เลี้ยงหมา) พวกเขาพบว่าเด็กๆ “เล่น” กับมันแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อใครคนหนึ่งหยิบส้อมโกยฟางขึ้นมาเสียบหมา แม่ก็ทนไม่ได้อีกต่อไปรีบวิ่งออกไปห้าม เขาเกาะหน้าต่างดูเหตุการณ์ถึงตอนที่ชายแก่คนหนึ่งเดินถือพลั่วเข้ามาหั่นหัวหมาทิ้ง และแม่ของเขาโวยวายอย่างบ้าคลั่งท่ามกลางเสียงหัวเราะของทุกคน เขาเดินอย่างมึนๆ งงๆ เหงื่อแตกเต็มตัวอยู่ในห้องและพบว่าน้องชายตัวเองที่เพิ่งหัดคลานกำลังเล่นกับรังแมลงสาบและหยิบไข่มันเข้าปากกินอย่างเอร็ดอร่อย เขาบอกน้องว่า “ดีๆ กินเข้าไปให้หมดเลยนะ”

ในแง่การพูดถึงสถานการณ์ใน “โลกอาหรับ” ผ่านทางการบรรยายสองประเทศเผด็จการในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 ดูเหมือนว่า The Arab of the Future จะไม่ได้ให้อะไรใหม่ พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าใครอยากจะรู้จักหรือเข้าใจลิเบียและซีเรียมากกว่าที่คิดไว้อยู่แล้วจากการเสพสื่อทั่วๆ ไป หนังสือเล่มนี้ก็คงไม่ใช่คำตอบ เช่นเดียวกันกับ memoir หลายๆ ชิ้น มันมีลักษณะเป็น “ส่วนตัว” และทุกๆ เรื่องส่วนตัวก็ไม่เคยเป็นภววิสัยหรือปราศจากอคติ แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะพิเศษสำหรับเล่มแรกในซีรีย์นี้ก็คือความที่มันเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กที่เล็กมากๆ เล็กจนยังไม่สามารถจะตั้งคำถามหรือต่อต้านอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน มันจึงเป็น memoir ที่ไม่หมกมุ่นกับตัวเองเลย มีเพียงแค่การสังเกตและเล่าต่อในสิ่งที่ตัวเองเห็นและได้ยิน พระเอกตัวจริงของเรื่อง จึงเป็น Abdul-Rasak ผู้เป็นพ่อ ที่ฉายภาพให้เห็น “The Arab of the Past” สำหรับคนในเจเนอเรชั่นของ Riad ขณะเดียวกัน สำหรับ “คนนอก” ที่แทบไม่เคยรู้จักคนอาหรับ มุมมองที่เป็น “ส่วนตัว” ก็ทำให้ได้เห็นชายอาหรับคนหนึ่งในฐานะพ่อ สามี ลูก และน้องชาย ที่มีทั้งมุมน่ารังเกียจ น่าเอ็นดู หรือจนกระทั่งน่าสงสาร

เหนือไปกว่านั้น เราได้เห็นว่า ทัศนคติที่ทั้งเป็น “ภัย” ในทางตรงต่อคนใกล้ตัว และเป็น “โทษ” ในทางอ้อมต่อสังคมและประเทศชาติที่ตัวเองรัก มีรากฐานที่ซับซ้อนจนไม่อาจชี้นิ้วไปที่ปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างง่ายๆ ได้ Abdul-Rasak ไม่ได้คลั่งศาสนา ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ การศึกษาและสถานภาพทางสังคมก็ไม่ด้อยกว่าใคร แถมยังมีโอกาสเห็นโลกที่กว้างไกลไปกว่าบ้านเกิด แต่ความชื่นชมโลกตะวันตกและต้องการการยอมรับอย่างเท่าเทียม ไม่ได้ทำให้เขาเลิกคับแค้นโกรธเกรี้ยว หรือดูถูก “คนอื่น” แม้กระทั่งเพื่อนร่วมชาติร่วมเผ่าพันธุ์ตัวเองน้อยลง

อันที่จริงเราอาจพูดได้ด้วยซ้ำว่าสถานะของเขาทำให้เขายิ่งเหยียดหยามชาวอาหรับได้เต็มปากเต็มคำมากขึ้น เชื่อในความชอบธรรมของระบอบเผด็จการได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในบทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับครอบครัวฝั่งภรรยา เขายอมรับว่า Gaddafi กับ Assad เป็น “เผด็จการ” แต่เขาก็ยังเชื่อว่านั่นคือระบอบที่เหมาะสมแล้วสำหรับชาวอาหรับ “คุณต้องโหดกับพวกนั้น คุณต้องบังคับให้มันเรียนหนังสือ ให้ไปโรงเรียน…ถ้าให้ตัดสินใจด้วยตัวเองน่ะเหรอ ก็อยู่เฉยๆ กันเท่านั้น มันเป็นพวกหัวดื้อขี้เกียจตัวเป็นขน ถึงจะมีศักยภาพเหมือนกันกับคนอื่นเขาก็เถอะ” เขามองว่าเมื่อไหร่ที่ชาวอาหรับได้รับการศึกษาโดยถ้วนหน้า เมื่อนั้นก็จะปลดปล่อยตัวเองจากเผด็จการได้เอง

Abdul-Rasak เป็นคนรักครอบครัว มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ เขาไม่เห็นด้วยกับการกดขี่และจองจำอิสรภาพ แต่เขาก็ยังพาตัวเองและครอบครัวไปตกระกำลำบากซ้ำๆ ต้องติดสินบนมือไม้สั่นเมื่อเข้าประเทศเพราะมีประวัติหนีทหาร ต้องซุกเงินมหาศาลที่หาได้จากการทำงานไว้ที่ธนาคารบนเกาะในฝรั่งเศส เพื่อจะมานั่งจิบไวน์พูดปกป้องการกระทำของผู้นำเผด็จการและใฝ่ฝันถึงอนาคตที่สดใส

ดูเป็นตรรกะแสนวิบัติจนชวนให้สงสัยว่าเขาสอนอะไรเด็กๆ ในห้องเรียน แต่ในโลกทัศน์ของ Abdul-Rasak เขาก็ยังจะเป็นคนดี คนฉลาด เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของ “ชาวอาหรับแห่งอนาคต” ในวิถีทางของเขาเองอยู่ดี

ที่มาภาพ: http://thearabofthefuture.com/