วันนี้ (16 ม.ค.) เป็นวันแรกที่ย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่าใช้ระบบเดินรถเมล์แบบใหม่ ปรับเส้นทางจากเดิมที่มี 300 กว่าสาย ให้เหลือรถเมล์ 70 สาย หวังแก้ปัญหาจราจร ปรับปรุงการบริการ
การปฏิรูประบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่นี้จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนในย่างกุ้งเลยก็ว่าได้ หลังจากเมื่อเมษายน 2016 รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของพรรค NLD ของนางอองซานซูจีประกาศจะยกเครื่องระบบขนส่งอันยุ่งเหยิง ที่มีรถโดยสารผุๆ กว่า 4,000 คัน ที่กว่าครึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วมากกว่า 20 ปี
ระบบใหม่ที่นำมาใช้นี้ ได้รวบเส้นทางรถเมล์จาก 300 สาย มาเรียงเลขใหม่เป็น 70 สาย (ไล่เลขไป เว้นเอาไว้แต่เลข 13) เป็นการปรับเส้นทางเพื่อหวังจะลดปัญหาการจราจร ลดระยะเวลาการสัญจร พยายามแก้ปัญหาคนล้นรถเมล์ ตารางเวลาไม่แน่นอน แถมยังมีปัญหาการบริการที่คนขับมักขับรถอย่างหวาดเสียว
อย่างไรก็ดี การปฏิรูประบบรถเมล์ครั้งนี้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยวิธีซื้อรถเมล์ใหม่หรือเพิ่มจำนวนรถ Phyo Min Thien สมาชิกพรรคNLD กล่าวว่าปัญหาที่ผ่านมาอยู่ที่การไร้ความเป็นมืออาชีพในการจัดการ แถมยังมีเรื่องการคอร์รัปชั่น ทำให้เกิดปัญหาการบริการและความใส่ใจของคนขับ
เขากล่าวว่า การปฏิรูปจึงจะเริ่มแก้จากปัญหาระบบการเดินรถก่อน จากนั้น ก้าวถัดไปค่อยมาพัฒนาวิธีจ่ายค่าโดยสารที่จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ปรับระบบความปลอดภัย และหาวิธีควบคุมให้รถเมล์เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร
แอพพลิเคชั่นในมือถือ สำหรับบอกสายรถเมล์ในย่างกุ้ง
การปฏิรูประบบครั้งนี้ รัฐบาลพม่าตั้งองค์การขนส่งในเขตย่างกุ้ง (The Yangon Region Transport Authority – YRTA) ขึ้นมา ให้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนอีก 8 แห่ง ที่เข้ามาดูแลบริษัทรถเมล์สายต่างๆ
ชาวย่างกุ้งอ่านรายละเอียดระบบรถเมล์แบบใหม่ ในสวน Tha Khin Mya
ภาพถ่ายโดย Soe Win Nyein
อาสาสมัครขององค์การขนส่งในเขตย่างกุ้งถือใบปลิวในมือ
ภาพถ่ายโดย Soe Win Nyein
สมาชิกพรรคNLD กำลังประชุมอาสาสมัคร
ภาพเฟซบุ๊กของ Nay P Latt สมาชิก NLD
ในวันแรกของการปรับระบบ องค์การขนส่งในเขตย่างกุ้งส่งอาสาสมัครกว่า 800 คนกระจายไปประจำป้ายรถเมล์กว่า 2,000 แห่งเพื่อคอยอธิบายเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถ
อย่างไรก็ดี เช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันแรกของระบบเดินรถเมล์แบบใหม่ ในตัวเมืองย่างกุ้งดูจะโกลาหลไม่น้อย ผู้คนในเมืองบ่นกันว่า รอรถเมล์นาน แถมคิวที่ป้ายรถฝั่งที่จะเข้าเมืองก็มีคนรออยู่เกือบ 70 คน ผู้โดยสารยังจำสายรถเมล์แบบใหม่ไม่ได้ บางรายจ่ายค่ารถเมล์รวมแล้วแพงกว่าเดิม
อีกประเด็นที่มากับการปฏิรูปซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก คือ การแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองโดยสั่งห้ามไม่ให้ขายของบนถนน แล้วย้ายร้านค้าให้ไปอยู่ในที่ที่จัดไว้ให้แทน ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การปฏิรูประบบรถเมล์ก็เปลี่ยนแปลงเงินเดือนของคนขับรถเมล์ด้วย จากก่อนหน้านี้ที่คนขับรถเมล์จะได้ค่าตอบแทนตามรอบ ทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนขับซิ่งรถเร็วๆ ที่แม้จะเสี่ยงแต่ก็ทำให้ทำรอบได้เยอะๆ ระบบใหม่นี้จะเปลี่ยนมาจ่ายเงินเดือนให้คนขับแทน แต่เรื่องนี้ก็ถูกวิจารณ์ เช่นที่ San Myint คนขับรถเมล์วัย 48 ปีกังวลว่า ข้อมูลเกี่ยวกับระบบใหม่นี้ยังมีน้อย กระทั่งเรื่องเงินเดือนแบบใหม่ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร ได้แต่หวังว่าจะไม่ทำให้รายได้ต่อเดือนของเขาลดต่ำไปกว่าเดิม
ที่มา: Reuters, Frontier Myanmar
ที่มาภาพรถเมล์ในย่างกุ้ง จาก Ilya Plekhanov