จากเกรียนสู่แฮกทิวิสต์ ถอดหน้ากาก Anonymous

9781781685839_Hacker__hoaxer-294b89cbd6b3950d9cdbfb0e39e66884

Coleman, Gabriella (2014). Hacker, Hoaxer, Whistleblower, Spy: The Many Faces of Anonymous. New York: Verso.


โดย มุเมอิ

การปรากฏตัวของกลุ่มผู้ประท้วงที่พรางตัวด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอกซ์ (Guy Fawkes) บนท้องถนนทั่วโลกกลายเป็นภาพชินตาไปแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จากการนัดรวมตัวทางอินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านลัทธิ Scientology ในปี 2008 เพียงไม่กี่พันคน กลายเป็นหลายหมื่นคน พร้อมด้วยข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งๆ ที่ปี 2007 เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนรู้จัก Anonymous ทางสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์ทีวี พวกเขาถูกเรียกว่า เครื่องผลิตความเกลียดชังในอินเทอร์เน็ต (Internet Hate Machine) รวมถึงใช้คำว่าผู้ก่อการร้ายในประเทศ (domestic terrorist)

ที่ผ่านมามีความพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่สลับซับซ้อนนี้มากมาย แต่งานเขียนชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของ Anonymous ได้ลุ่มลึกที่สุดเล่มหนึ่งคือ Hacker, Hoaxer, Whistleblower, Spy: The Many Faces of Anonymous ผลผลิตจากการติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิดของกาเบรียลลา โคลแมน (Gabriella Coleman) นักมานุษยวิทยา และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา เธอค่อยๆ ถอดหน้ากากที่ซ้อนทับไปมา และเผยให้เห็นว่าภายใต้หน้ากากที่ชวนให้เชื่อว่าทุกคนเหมือนกันหมดนั้น แท้จริงเป็นอย่างไร

รายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสืออย่างรุ่มรวยสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานหนัก โดยเฉพาะความรู้ความเชี่ยวชาญในทางเทคนิคที่ไม่ค่อยพบเห็นนักในหมู่นักสังคมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็สนทนากับผู้อ่านด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างมีชีวิตชีวา

โคลแมนเริ่มเก็บข้อมูลของ Anonymous ตั้งแต่ปี 2008 เธอเข้าไป ‘สังเกตการณ์’ ในห้องสนทนา IRC (Internet Relay Chat) ของสมาชิก Anonymous หลายกลุ่มหลายระดับ จนได้เห็นว่าพวกเขาวางยุทธศาสตร์ วางแผนโจมตี เล่นมุกตลก วิพากษ์วิจารณ์เรื่องใด หรือมีกระบวนการตัดสินใจในปฏิบัติการต่างๆ อย่างไรบ้าง เธอพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดเหล่าแฮกเกอร์ที่ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นพวกต่อต้านสังคม หมกมุ่นแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งมีปฏิบัติการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่เรียกว่า แฮกทิวิสต์ (hacktivist) ได้  โคลแมนร่วมเดินขบวนประท้วงกับกลุ่ม Anonymous คุยในห้องแชต IRC วันละ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สังเกตการณ์ในศาล ช่วยแก้คำประกาศต่างๆ รวมทั้งสอนวิธีเข้าถึง Anonymous ให้กับนักข่าว ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมาย

ข้อเสนอหนึ่งของโคลแมนคือ ปฏิบัติการของ Anonymous มีรากมาจากอารมณ์ขันและความตลก โดยมองว่านี่เป็นการเล่นสนุก พวกเขาคือนักเล่นกล (trickster) ของยุคสมัย เพียงแต่ไม่ใช่การหัวเราะแบบ lol (laughing out loud) แต่เป็น lulz ซึ่งเป็นอารมณ์ขันจากที่เกิดขึ้นจากความโชคร้ายของคนอื่น (laughter at the expense of the misfortune of others) เป็นอารมณ์ขันที่รู้ว่ามีอะไรลึกๆ แฝงอยู่ lulz เป็นการทำลายแก่นศีลธรรมและการเมือง ชีวิตทางสังคม พวกเขาใช้สิ่งที่เราคิดไม่ถึงให้กลายเป็นอาวุธ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ความปลอดภัย ฯลฯ มีครั้งหนึ่ง Anonymous ได้ปฏิบัติการ DDos attack ด้วยการรุมกระหน่ำเข้าไปสั่งพิซซาในเว็บไซต์ให้ไปส่งที่โบสถ์ของ Scientology ทั่วอเมริกาเหนือ โดยไม่จ่ายเงิน แฟกซ์ภาพโป๊เปลือยและส่งกระดาษสีดำ ก่อกวนสัญญาณโทรศัพท์ที่เป็นสายให้คำปรึกษาของโบสถ์

ส่วนแรกของหนังสือ เริ่มด้วยการปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจกติกาและศัพท์ต่างๆ ที่ควรรู้ของการละเล่นในลักษณะนี้

ก่อนที่โลกจะตื่นเต้นกับปฏิบัติการของ Anonymous โคลแมนเริ่มต้นพาผู้อ่านกลับไปยังยุคก่อนอินเทอร์เน็ตที่เหล่านักเทคนิคชวนกันป่วนเครือข่ายโทรศัพท์บ้าน ราวทศวรรษ 1960-1970 คนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมาคุยกันได้เพราะต่างคนต่างแฮกสายโทรศัพท์ พวกเขาจะคุยกันเรื่องเทคโนโลยี นินทาผู้คน วางแผนเพื่อเจาะโทรศัพท์ครั้งต่อไป มาจนถึงยุคที่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980-1990 เริ่มมีแฮกเกอร์ใต้ดินที่พยายามเจาะเข้าคอมพิวเตอร์ของคนอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และเกิดแฮกเกอร์ประเภทที่หาช่องโหว่ความปลอดภัยของระบบเครือข่ายต่างๆ

เว็บบอร์ด 4chan ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ Anonymous เรียกกันว่าเป็น “asshole of the internet” เพราะปล่อยให้ผู้ใช้สามารถโพสต์รูปและข้อความได้อย่างอิสระ ไม่บังคับให้ต้องใช้ชื่อจริง ผู้ใช้จะมีชื่อ Anonymous ซึ่งเป็นชื่อตั้งต้นโดยปริยาย (default) (ในปี 2006 ผู้ใช้ 4chan รวมตัวกันจู่โจมเว็บไซต์ของโรงแรม Habbo ที่เลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ) ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการย้ายไปสนทนาด้วย IRC แทน

เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่า Anonymous เป็น ‘กลุ่ม’ หรือ ปัจเจก หรือเป็นการรวมตัวลักษณะใด เนื่องจากมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหลวมๆ คลุมเครือ

แต่เดิมท่าทีและพฤติกรรมของ Anonymous ถูกมองว่าเป็นพวก ‘เกรียน’ (troll) หรือตัวป่วนในโลกออนไลน์ คำว่า troll ในอินเทอร์เน็ตเริ่มใช้จริงในเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยุคแรกที่จำกัดอยู่ในหมู่นักวิชาการและทหารที่ยังเรียกว่า ARPANET พวกเขามีกระดานสนทนาขนาดยักษ์ซึ่งตอนแรกมีไว้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องทางเทคนิค ต่อมาขยายไปถึงการคุยกันเรื่องเพศ เรื่องตลก และการต่อต้าน Scientology เริ่มมีการใช้คำว่า ‘หยุดให้อาหารพวกเกรียน’ (stop feeding the trolls) ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับการสนทนา

แต่ Anonymous เป็นเกรียนที่เปลี่ยนเป็นนักกิจกรรมทางสังคมแล้ว (activist)

 Anonymous ปฏิบัติการครั้งแรกเพื่อต่อต้านกลุ่ม Scientology ในปี 2006 จากนั้นก็ขยายไปสู่ประเด็นอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจู่โจมเว็บไซต์ Paypal ที่ไม่อนุญาตให้สมาชิกบริจาคเงินให้กับวิกิลีกส์ (Wikileaks) การละเมิดทางเพศเด็ก การมีส่วนร่วมในการปฏิวัติอาหรับ (Arab Spring) ที่ตูนีเซียและอียิปต์ ไปจนถึงขบวนการ Occupy พฤติกรรมเหล่านี้เองที่ทำให้ Anonymous ถูกมองว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีความพิเศษจากเครื่องมือที่พวกเขาใช้

การทำงานของ Anonymous ไม่ถึงกับไร้โครงสร้างหรือปราศจากลำดับชั้นอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากการแบ่งห้องสนทนาย่อยๆ ซึ่งนอกจากความสามารถทางเทคนิคแล้ว ความไว้วางใจเป็นเกณฑ์หนึ่งที่ใช้คัดเลือกสมาชิก ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งปรากฏอยู่เป็นระยะ เช่น การตัดสินใจลงมือปฏิบัติการ การทรยศ การแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ รวมไปถึงการนำเสนอตัวตนผ่านสื่อซึ่งเป็นที่รังเกียจอย่างยิ่ง

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังและพิเศษมากคือ การเผยให้เห็นชีวิตของแฮกเกอร์ที่ร่วมเคลื่อนไหวในนาม Anonymous โคลแมนมีโอกาสได้พบหน้าค่าตาบางคน ทั้งจากการนัดพบกันในห้องสนทนา IRC เจอกันตามงานสัมมนา การชุมนุมประท้วงบนท้องถนน หรือการนัดพบแบบตัวต่อตัว หลายครั้งทำลายภาพจำที่เราเคยมี ครั้งหนึ่งโคลแมนได้พบกับ Sabu ซึ่งเป็นแฮกเกอร์ตัวฉกาจและถือได้ว่าเป็นผู้นำทางความคิดในห้องสนทนาของแกนนำ Sabu ตัวจริงเป็นชายผิวดำร่างใหญ่ ยากจน กำพร้าพ่อแม่ และต้องเลี้ยงดูน้องๆ ไม่นานหลังจากนั้น Sabu ถูก FBI จับกุมตัวและบังคับให้เขาเป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่มีใครในห้องก่อการรู้ว่าทุกครั้งที่ Sabu ออนไลน์ F.B.I. ก็เห็นทุกอย่างเหมือนที่เขารู้ด้วย เป็นระยะเวลานานหลายเดือน จนกระทั่งมีปฏิบัติการโจมตีเว็บไซต์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทเอกชน สุดท้ายสมาชิกในห้องสนทนาทั้งหมดโดนจับ และมีหลักฐานการกระทำผิดชัดเจนจากขั้นตอนการวางแผนในห้องลับนั้นเอง

ระหว่างการติดตามการดำเนินคดีในหลายประเทศของผู้ที่ถูกจับกุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน โคลแมนตั้งข้อสังเกตว่าทัศนคติของผู้พิพากษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง มีกรณีที่ผู้พิพากษาชาวไอร์แลนด์ตัดสินว่าการกระทำของหนึ่งในสมาชิก Anonymous เป็นแค่การพ่นกราฟฟิตี้บนกำแพงออนไลน์เพื่อแสดงตัวตนของวัยรุ่นเท่านั้น และมองว่านี่เป็นการใช้ไหวพริบในทางที่ผิด โทษจึงเป็นเพียงการปรับเงินและการทำงานอาสาสมัคร  ต่างจากศาลอเมริกันที่ผู้กระทำความผิดต้องโทษรุนแรง

ไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากนักว่า นี่คืองานเขียนวิชาการ เพราะไม่เพียงแต่เราจะได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกของแฮกทิวิสต์แล้ว ตลอดทั้งเล่มโคลแมนยังสอดแทรกความคิด อารมณ์ความรู้สึก ความกังวลต่างๆ ของเธอ ที่บางทีก็เหมือนกับพูดกับตัวเองอยู่เป็นระยะมากกว่าจะสนทนากับผู้อ่าน

แน่นอนว่ามีการตั้งคำถามต่อท่าทีของโคลแมนจากหลายมุม เช่นจากจุดยืนในฐานะนักมานุษยวิทยาซึ่งเรียกร้องให้ผู้ศึกษามีระยะห่างกับผู้ให้ข้อมูล แต่กลับมีหลายครั้งที่โคลแมนช่วยเรียบเรียงแถลงการณ์หรือให้คำปรึกษาในการพูดคุยกับสื่อมวลชนแก่ Anonymous การทำงานของโคลแมนยังทำให้เธอสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถอาศัยข้อมูลของโคลแมนเพื่อหาทางเข้าถึงตัว Anonymous ได้ด้วย อีกทั้งในหนังสือ โคลแมนเองก็เปิดเผยว่าเธอได้รับเชิญจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลแคนาดาให้ไปบรรยายเกี่ยวกับ Anonymous แก่เจ้าหน้าที่ด้วย

จะว่าไปแล้ว การร้อยเรียงเรื่องเล่าของโคลแมนก็คล้ายๆ กับลักษณะของ Anonymous ซึ่งเธอมองว่าเป็นการใช้สิทธิในความคลุมเครือ (right to opacity) จัดประเภทได้ยาก ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ ยิบย่อยซ่อนอยู่ภายใต้โครงสร้างการเล่าเรื่อง การอ่าน (ให้จบ) และการเขียนถึงหนังสือเล่มหนาเกือบ 500 หน้านี้จึงไม่ง่ายนัก กระนั้นก็ตามนี่เป็นหนังสือที่ต้องอ่านลำดับต้นๆ สำหรับนักกิจกรรมในยุคดิจิทัลหรือนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่สนใจประเด็นการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์