อัยการลักเซมเบิร์กร้องศาล จำคุกคนเปิดโปงคอร์รัปชั่นนาน 18 เดือน

ผู้เป่านกหวีด (Whistle Blower) หรือผู้เปิดโปงข้อมูล เจอความเสี่ยงถูกศาลลักเซมเบิร์กสั่งจำคุกนาน 18 เดือน จากการเปิดเผยเอกสารที่รัฐบาลช่วยบริษัทใหญ่เลี่ยงภาษีนับพันล้านดอลลาร์

จากเรื่องที่ถูกเปิดโปงเมื่อปี 2014 ซึ่งเรียกกันในสื่อว่า LuxLeaks เมื่อ Antoine Deltour และ Raphael Halet ลูกจ้างชาวฝรั่งเศสของบริษัทตรวจสอบบัญชี PwC (PricewaterhouseCoopers) แอบเอาข้อมูลการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทกว่า 1,000 แห่ง มาแอบส่งต่อให้นักข่าว ข้อมูลที่เขาแอบเอามาปล่อยชี้ว่า รัฐบาลลักเซมเบิร์กยอมประทับตรายางยกเว้นภาษีกว่าพันล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจจำนวนหนึ่ง เช่น  Apple, IKEA, Pepsi แถมช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กด้วย

สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อ 10 พ.ค. ว่า หลังจากการพิจารณาคดีราว 2 สัปดาห์เมื่อเดือนเมษายน ล่าสุด อัยการเตรียมสั่งฟ้องพวกเขาหลายข้อหา ได้แก่ การโจรกรรมข้อมูล การเปิดเผยความลับทางธุรกิจ และการละเมิดความลับของวิชาชีพ และยื่นคำร้องต่อศาลให้จำคุกเขา 18 เดือน ผลคำพิพากษาจะออกมาราวกลางเดือนมิถุนายนนี้ อัยการยังขู่จะดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวที่เผยแพร่รายงานนี้ด้วยเช่นกัน

เรื่องฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนี้เป็นประเด็นเมื่อปี 2014 เมื่อหนังสือพิมพ์การ์เดียนในอังกฤษร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยข้อมูลลับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเอกสาร 28,000 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกว่า 1,000 แห่งที่รัฐบาลลักเซ็มเบิร์กยอมประทับตรายางให้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยเอกสารจำนวนมากมีบริษัท PwC เป็นผู้จัดการให้

มาร์ติน พีเจียน นักวิจัยและนักรณรงค์จากกลุ่มจับตาบรรษัทในยุโรปกล่าวว่า กรณีฉาวโฉ่นี้ ไม่มีบริษัทเลี่ยงภาษีรายไหนถูกสืบสวนเลย มีแต่ผู้เปิดโปง 2 รายนี้ที่กำลังเสี่ยงต้องเข้าคุก

คาร์ล โดแลน จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) กล่าวว่าสิ่งที่เขาทั้งคู่ทำ ควรจะได้รับการปกป้อง ไม่ใช่ส่งเขาไปคุก เพราะข้อมูลที่เขาเปิดเผยออกมาเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันนี้ ในยุโรปมีเพียง 4 ประเทศที่มีกฎหมายว่าด้วยการคุมครองผู้เปิดโปงข้อมูล

 

ที่มา:  Economia, The Parliament Magazine

ภาพจาก: Transparency International