เบื้องหลังสปีชตรึงใจของมิเชล โอบามา กับบทบาทอุดรอยโหว่ให้คลินตัน

สุนทรพจน์ 15 นาทีของ มิเชล โอบามา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในเวทีการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต กลายเป็นสุนทรพจน์ที่กล่าวขานว่าตรึงตราใจคนที่สุดในนาทีนี้

ค่ำคืนแรกของการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา มีตัวแทนพรรคฯ จากรัฐและเขตปกครองต่างๆ รวมกว่า 5,000 คนมาประชุมกัน วาระสำคัญเพื่อประกาศชื่อ ฮิลลารี คลินตัน ผู้แทนของพรรคไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันเลือกตั้ง 8 พ.ย. นี้

มิเชล โอบามา ไม่ใช่นักการเมืองโดยอาชีพ แต่ด้วยท่าทีตรงๆ จริงใจ และเป็นกันเอง ทำให้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เธอค่อยๆ กลายเป็นที่รักและนิยมชมชอบของมวลชนจำนวนมาก การออกมาประกาศว่าสนับสนุนคลินตันจึงกลายเคมีสำคัญที่ช่วยรับรองและดึงความเชื่อมั่นจากสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งที่ยังคลางแคลงใจในตัวคลินตัน

“ทุกเช้า ฉันตื่นขึ้นมาในบ้านที่สร้างขึ้นมาจากแรงงานทาส และฉันเฝ้ามองลูกสาวทั้งสองที่ทั้งน่ารัก ฉลาด เด็กหญิงผิวดำที่กำลังเล่นกับสุนัขที่สวนในทำเนียบขาว… และเพราะ “ฮิลลารี คลินตัน” ลูกสาวของฉัน และลูกหลานของพวกเราก็เข้าใจไปโดยปริยายว่า ผู้หญิงก็สามารถก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้… ดังนั้น อย่าปล่อยให้ใครมาบอกคุณว่า ประเทศนี้ไม่ยิ่งใหญ่แล้วจะต้องทำให้มันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะเวลานี้ สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว”

สุนทรพจน์ที่จับใจคนครั้งนี้ เน้นไปที่ความแตกต่างทางเชื้อชาติที่สร้างชาติสหรัฐอเมริกาขึ้นมา โดยเล่าผ่านบทบาทของแม่ที่มองดูการเติบโตของเด็กๆ เธอกล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีมีความสำคัญ เพราะมันคือการเลือกตัวคนที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิตเยาวชนของประเทศไปอีก 4 ถึง 8 ปีข้างหน้า และคนที่เธอเชื่อมั่น ก็คือ ฮิลลารี คลินตัน ก่อนจะปิดท้ายว่า เธอวางใจหากบทบาทนี้จะมีคลินตัน มาสานต่อ ซึ่งจะทำให้ทั้งโอกาส ความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกัน จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

ความคมกริบที่ปรากฏในสุนทรพจน์ของนางโอบามาเมื่อคืนวันจันทร์ ยังจงใจพาดพิงถึง โดนัลด์ ทรัมป์ หลายจุด โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อนักการเมืองจากพรรคคู่แข่งออกมาแม้แต่คำเดียว เช่น เนื้อหาที่เธอเหน็บกัดทรัมป์ผ่านเรื่องเล่าของการเลี้ยงดูลูกสาว จากชีวิตครอบครัวที่ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวขณะลูกสาวทั้งสองมีอายุ 7 ขวบและ 10 ขวบ เธอและโอบามาพยายามป้องกันลูกๆ จากความไม่ปกติที่ชีวิตต้องถูกจับตาอยู่ตลอดเวลา และให้พวกเขารับมือด้วยการเพิกเฉยต่อคนที่ชอบมาตั้งคำถามเรื่องความเป็นพลเมืองและความเชื่อของพ่อของพวกเขา และย้ำว่า วาจาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังที่ได้ยินจากบุคคลสาธารณะในทีวีนั้นไม่ได้เป็นภาพแทนอุดมการณ์ของประเทศนี้ และเมื่อมีใครที่ทำตัวโหดร้ายหรือมีท่าทีชอบแกล้งคนอื่น เราไม่จำเป็นต้องไปตกต่ำตามเขา เพราะหลักของเราคือ เมื่อพวกเขาต่ำลง เราจะสูงขึ้น

สุนทรพจน์ของมิเชล โอบามา เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 59 ในงานประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต

 

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง และทำให้สุนทรพจน์เหล่านี้กลายเป็นพาดหัวข่าวได้ คือ ซาราห์ ฮัววิทซ์ (Sarah Hurwitz) มือเขียนสุนทรพจน์ประจำตัวของมิเชล โอบามา

แต่ก่อนหน้าที่ฮัววิทซ์จะมาทำหน้าที่นี้ เธอเป็นหัวหน้าทีมเขียนสปีชให้กับฮิลลารี คลินตันมาก่อน รวมถึงสุนทรพจน์เด่นของคลินตันเมื่อปี 2008 ในคราวที่ประกาศรับความพ่ายแพ้ ซึ่งกลายเป็นสุนทรพจน์ที่ผู้คนจดจำกันในนาม “18 million cracks” หรือเสียงของคน 18 ล้านคนที่สนับสนุนเธอ โดยทิ้งท้ายความพ่ายแพ้ว่า ครั้งหน้าเธอจะต้องมีหวัง พอสิ้นสุนทรพจน์ดังกล่าว ทีมโอบามาก็เรียกตัวฮัววิทซ์ไปร่วมงานด้วยโดยทันที

และแน่นอน สุนทรพจน์อื้อฉาวเมื่อสัปดาห์ก่อนของ เมลานี ทรัมป์ ภรรยาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าลอกสุนทรพจน์เมื่อปี 2008 ของ มิเชล โอบามา ไปแบบคำต่อคำ ก็มาจากต้นฉบับฝีมือของซาราห์ ฮัววิทซ์ อดีตมือสปีชประจำตัว ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ในตอนนี้นั่นเอง

ฮัววิทซ์ อยู่ในทีมเขียนสุนทรพจน์ให้ประธานาธิบดีโอบามามานาน 8 ปี หรือเต็มตลอดสองเทอมที่เขาดำรงตำแหน่ง และเป็นมือเขียนสุนทรพจน์ให้มิเชล โอบามาราว 7 ปีกว่าๆ ในช่วงแรก ภาพลักษณ์ของนางโอบามายังเป็นคนที่ดูเป็นชนชั้นนำ เจ้าอารมณ์ และไม่ได้ดูมีอุดมการณ์รักชาติ หน้าที่ของฮัววิทซ์ก็คือการสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อเสริมความนิยมในตัวสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนนี้

ทั้งคู่เริ่มทำงานด้วยกันโดยมิเชล โอบามา จะเปิดเผยให้ฮัววิทซ์รับรู้ว่า ตั้งแต่เบื้องลึกในชีวิต พื้นเพครอบครัว แต่ในโอกาสต่างๆ มิเชล โอบามา มักมีประเด็นที่เธอต้องการจะพูดอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดผ่านวิธีการนำเสนอและเล่าใหม่ ตัวตนหลายอย่างก็ได้รับการเปิดเผยผ่านสุนทรพจน์ที่ถูกเรียบเรียงมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นเพของเธอที่มาจากชนชั้นแรงงานทางตอนใต้ของชิคาโก ตัวตนของเธอที่มักตั้งแง่กับงานการเมือง แต่ต้องแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของสามีที่จะสร้างความแตกต่าง

จากคำบอกเล่าของ ไทเลอร์ เล็ตเชนบวร์ก มือเขียนสปีชคนก่อนหน้าที่เคยเขียนให้มิเชล โอบามา เล่าว่า สไตล์ของมิเชล โอบามาคือ ต้องการให้แน่ใจว่า มันมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเป็นแกนกลางอยู่ในสุนทรพจน์แต่ละครั้ง และเธอไม่สนแนวทางที่หยิบเอาพวกสถิติตัวเลขมาชูประเด็น

สิ่งสำคัญที่ฮัววิทซ์ต้องทำ ก็คือการหยิบเอาเกร็ดเรื่องเล่าต่างๆ มาเล่าซ้ำ แต่ทำให้มันสดใหม่ จะทำได้ไม่เพียงต้องแม่นในแก่นเนื้อหาชีวิตของสมาชิกครอบครัวโอบามาเท่านั้น แต่ยังต้องรู้เกร็ดเรื่องเล็กเรื่องน้อย ที่วันหนึ่งอาจสามารถเอามาใช้ในสุนทรพจน์ที่จะส่งพลังจากอารมณ์ความรู้สึกจริงได้

ทั้งหมดทั้งปวง สิ่งเหล่านี้มีผลช่วยสร้างความนิยมในตัวประธานาธิบดีโอบามาให้สูงยิ่งขึ้นด้วย และในสุนทรพจน์ครั้งล่าสุดนี้ มิเชล โอบามา ยังทำหน้าที่สนับสนุนคลินตัน โดยสุนทรพจน์ของเธอ จะดึงเอาแนวร่วมจากสายผู้หญิง (ที่คลินตันไม่ค่อยมี) คนรุ่นใหม่ (ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนเบอร์นี แซนเดอร์ส) กลุ่มแอฟริกันอเมริกัน และกลุ่มฮิสแปนิก ให้มาสนับสนุนคลินตันด้วย

และนอกจากแนวร่วมจากชาวเดโมแครตด้วยกันเอง ในเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนข้างหน้าก่อนวันเลือกตั้งทั่วประเทศ ฮิลลารี คลินตันยังต้องเร่งทำคะแนนอีกมาก โดยเฉพาะในยามที่โพลล์หลายสำนักออกมาชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันได้แต้มเหนือกว่าฮิลลารี คลินตันอยู่หลายแต้ม

สำหรับมือเขียนสปีชผู้สร้างภาพลักษณ์คนสำคัญอย่าง ซาราห์ ฮัวริทซ์นี้ หลังจากนี้จะกลับไปทำงานให้กับฮิลลารี คลินตันดังที่เคยทำหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องต้องคอยดูกันต่อไป

……
หมายเหตุ:
อ่านเบื้องหลังการทำงานของ “ซาร่า ฮัววิทซ์” ได้ในบทความของ Krissah Thompson เรื่อง What’s on Michelle Obama’s mind? Meet the speechwriter who puts it into words ทาง Washington Post

ที่มา:

ภาพโดยChuck Kennedy จาก The White House เผยแพร่ใน Washington Post