เป็นที่ฮือฮา เมื่อรายงานของสหประชาชาติที่ศึกษาสิ่งตกค้างจากยาฆ่าหญ้า “ไกลโฟเซต” ได้ข้อสรุปว่า ยาชนิดนี้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ขัดกับงานศึกษาชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้า
ผลการศึกษานี้นำมาสู่พาดหัวข่าวในสื่อต่างประเทศที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) เริ่มจากรอยเตอร์ พาดหัวว่า ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นพบว่า ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซต ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดมะเร็ง ตามด้วยการ์เดี้ยนที่บอกว่า สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกระบุ ไกลโฟเซตไม่สร้างความเสี่ยงต่อมนุษย์
แต่เมื่ออ่านลึกลงไปภายใต้พาดหัวข่าวนั้น จะพบว่า โจทย์ที่ทีมงานของยูเอ็นศึกษาเป็นเพียงการตรวจดูสิ่งตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในอาหารเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงสิ่งตกค้างที่อยู่ในอากาศในระหว่างและหลังใช้ยาฆ่าหญ้าตัวนี้ และไม่ได้ศึกษาถึงคนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ไร่นาที่ใช้ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซต
รายงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) กลุ่มประเมินสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง (JMPR) ที่จัดขึ้นที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 9-13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
หลังจากเผยแพร่รายงานชิ้นนี้ เมื่อวานนี้เอง การ์เดียน ก็เสนอข่าวอีกชิ้นเปิดโปงว่า ประธานคณะทำงานร่วมของยูเอ็น ถือหมวกอีกใบ เป็นรองประธานของสถาบันที่ได้รับเงินบริจาคจำนวน 6 หลักจากบริษัทมอนซานโต ซึ่งใช้ไกลโฟเซตของสารหลักในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมอย่างยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” และข้อสรุปของการศึกษาก็น่าจะเข้าข่ายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
รายงานนี้ศึกษายาฆ่าแมลง 3 ตัวหลัก คือ ไดอะซินอน ไกลโฟเซต และมาลาไธออน จากการชงเรื่องของ JMPR ที่อยากให้มีการประเมินผลกระทบจากยาเหล่านี้ใหม่ ซึ่งก็ทำให้ได้ข้อสรุปออกมาว่า ยาทั้ง 3 ตัวไม่สร้างสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ “ผ่านการบริโภค” ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้ยาเหล่านี้
แต่การศึกษานี้ ไม่ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยในชุมชนที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงเหล่านี้
หนังสือพิมพ์การ์เดียน รายงานถึงคำพูดของ แฮร์รี่ แวน เดอร์ วูลัป เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายของ FAO ที่บอกว่า ข้อสรุปนี้พูดถึงความเสี่ยงภัยผ่านการบริโภค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันไม่ใช้ข้อสรุปทั่วไป เพราะอะไรที่เกินเลยไปกว่าเรื่องการบริโภคนั้นไม่ใช่วาระในงานนี้ แต่ความเสี่ยงที่เกิดจากคนทำงานนั้นยังไม่ชัดเจนนัก
เมื่อปีที่แล้ว หน่วนงานนานาชาติเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งขององค์การอนามัยโลก มีข้อสรุปว่า มีความเป็นไปได้ที่ไกลโฟเซตจะสร้างสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทั้งนี้ จากการศึกษากลุ่มเสี่ยง “ยังมีข้อมูลที่จำกัด” ที่จะเชื่อมโยงสารเคมีตัวนี้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ก็พบว่า มีหลักฐานที่โน้มเอียงให้เห็นว่า ไกลโฟเซตเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งในสัตว์ที่ทดลองในห้องทดลอง
นอกจากนี้ เมื่อศึกษาชุมชนกลุ่มเสี่ยงก็พบว่า หลังมีการใช้ยาฆ่าหญ้า ชุมชนในละแวก พบว่า ลักษณะของโครโมโซมผิดปกติที่จะเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งในระบบโลหิตก็มีเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกมาได้จังหวะ ที่ในสัปดาห์นี้ สหภาพยุโรปหรือ อียู จะต้องพิจารณาใหม่ว่า จะอนุญาตให้เกษตรกรใช้ไกลโฟเซตได้หรือไม่
Georgina Downs คอลัมน์นิสต์และนักผู้เคลื่อนไหวให้เกิดความตระหนักต่อผลข้างเคียงจากการใช้สารเคมีต่อผลทางสุขภาพ เขียนบทความลง Common Dreams ย้ำว่า เอาเข้าจริงแล้ว มันยังไม่เคยมีการประเมินความเสี่ยงอย่างจริงจังกับคนกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ใช้ยาฆ่าแมลงเลย ทั้งที่มันเป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญเลย
เรียบเรียงจาก:
Georgina Downs. No, the UN Has Not Given Glyphosate a ‘Clean Bill of Health’. Common Dreams. 17 May 2016.
Kate Kelland. U.N. experts find weed killer glyphosate unlikely to cause cancer. Reuter. 16 May 2016.
Arthur Neslen. Glyphosate unlikely to pose risk to humans, UN/WHO study says. Guardian. 16 May 2016.
Arthur Neslen. UN/WHO panel in conflict of interest row over glyphosate cancer risk. Guardian. 17 May 2016.
ภาพจาก: Global Justice Now