ผู้ลี้ภัยไหลบ่าเข้าสู่ยุโรปเป็นประเด็นใหญ่ระหว่างประเทศ ประชาชนในยุโรปมีทั้งที่อ้าแขนรับ กับที่ไม่เต็มใจอยู่ร่วมประเทศกับผู้ลี้ภัย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถหยุดยั้งแรงผลักที่ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดแล้วเดินทางฝ่าอันตรายเพื่อเข้าสู่ยุโรปให้ได้
เพื่อจะแก้ปัญหานี้ สถาปนิกชาวเนเธอร์แลนด์ เสนอให้ถมดินสร้างเกาะขึ้นมาใหม่ในทะเล ห่างไปจากชายฝั่งของประเทศตูนิเซีย และรองรับผู้ลี้ภัยที่คาดหวังอยากใช้ชีวิตในยุโรป
สถาปนิกเจ้าของแนวคิดนี้ คือ ธีโอ ดูติงเง่อ (Theo Deutinger) เจ้าของบริษัทสถาปนิก TD ในเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีประสบการณ์สร้างเกาะเทียมมาแล้ว เขาเสนอโครงการสร้าง “ยุโรปในแอฟริกา” หรือ “อีไอเอ” (Europe in Africa) โดยเกาะนี้จะเป็นนครรัฐที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงใต้ทะเลตูนิเซีย (Tunisean Plateau) บริเวณช่องแคบระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของตูนิเซียกับอิตาลีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เขาเสนอให้สหภาพยุโรปเช่าพื้นที่ตรงนี้จากตูนีเซียและอิตาลีด้วยสัญญา 99 ปี
ดูติงเง่อเสนอเช่นนี้พร้อมให้นิยามมันว่า มันจะเป็นเมืองยุโรปที่ “แท้จริง” แห่งแรก เกาะนี้จะมาจากการถมดินสร้างประเทศขึ้นใหม่ แล้วมีรัฐธรรมนูญ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมเป็นของตัวเอง โดยได้รับการคุ้มครองภายใต้สหภาพยุโรป เกาะเทียมนี้จะเป็นนครแห่งแรกที่เป็นส่วนหนึ่งของยุโรปแต่ไม่ได้เกาะเกี่ยวกับรัฐชาติใดในยุโรป เขายังจะเสนอให้เกาะเทียมนี้ใช้รัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เคยมีการเสนอให้ใช้ทั่วทวีปแต่ถูกปัดตกไปโดยฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์
ในความคิดเขา ที่ตั้งของอีไอเอจะสามารถรวมสิ่งดีๆ ของยุโรปและแอฟริกาเข้าด้วยกัน ปัญหาของผู้ลี้ภัยที่ต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ก็จะหมดไป และยังได้อยู่ในบริเวณที่สภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับบ้านเกิด
อีไอเอจะถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับทุกคนที่ต้องการมาอาศัยที่นี่ และทุกคนต้องได้รับโอกาสในการทำงาน เขาเปรียบเทียบว่าการเริ่มต้องของเมืองนี้ก็คล้ายกับจุดเริ่มต้นของการบุกเบิกอเมริกานั่นเอง แต่คนที่อาศัยในเกาะเทียมจะยังไม่ได้รับสถานะเป็นพลเมืองยุโรป จนกว่าจะอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไอเดียลักษณะนี้ผุดออกมา ก่อนหน้านี้ เจสัน บูซี มหาเศรษฐีวงการอสังหาริมทรัพย์จากซานฟรานซิสโก ก็เคยเสนอเรื่องการสร้าง “ประเทศผู้ลี้ภัย” และ นากิบ ซาวิริส (Naguib Sawiris) มหาเศรษฐีวงการโทรคมนาคมชาวอียิปต์ ก็เคยประกาศจะกว้านซื้อเกาะจำนวนหนึ่งเพื่อรองรับผู้ลี้ภัย ซึ่งดูติงเง่อก็ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของไอเดียที่เขาคิดขึ้นก็มาจากข้อเสนอเหล่านั้นด้วย
ผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์เขียนไว้ในบทความว่า ไม่ว่าอย่างไร ยังไม่มีแนวคิดใดที่พูดถึงการสร้างประเทศหรือให้พื้นที่พิเศษสำหรับผู้อพยพบรรลุผลสำเร็จ อุปสรรคใหญ่คือ การซื้อที่เพื่อสร้างประเทศมันเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ และองค์กรโลกกบาล ยังไม่ร่วมถึงคำถามเชิงปรัชญาที่อยู่ภายใต้โครงการประเภทนี้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า เหตุผลที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพต้องการเดินทางเข้าสู่ยุโรป คือเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม และไม่ว่าจะผิดหรือจะถูก เขาเชื่อมั่นว่าชีวิตที่ดีกว่ามันอยู่ในยุโรปและพร้อมยอมเสี่ยง
บิลล์ ฟรีลิก ผู้อำนวยการด้านสิทธิผู้ลี้ภัยของฮิวแมนไรท์วอทช์เคยกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “ประเทศผู้ลี้ภัย” ของบูซีว่า มันอาจเป็นเมืองในอุดมคติ หรืออาจจะเป็นนรกไปเลยก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็วิจารณ์กันด้วยว่าวิธีคิดนี้มุ่งแก้ปัญหาของยุโรปแต่ไม่แก้ที่มาของปัญหาที่ทำให้คนต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัย
ดูเหมือนดูติงเง่อจะได้ยินถึงคำวิจารณ์ทำนองนี้มาแล้ว แต่เขาเห็นว่าอีไอเอไม่ใช่อาณานิคมของประเทศไหน มันเป็นของผู้อยู่อาศัย และคนไม่ได้อยู่กันแบบสลัมเพราะที่นี่ไม่มีรั้วกั้น เขายังกล่าวว่า กำลังเดินหน้าทำงานกับทีมนักศึกษาเพื่อทำให้แผนนี้เป็นจริง แม้เบื้องต้น เขาเสนอไอเดียนี้กับนักการเมืองดัตช์แล้วดูเหมือนจะยังไม่มีใครเอาด้วย เขาจึงหวังความสนใจจากสาธารณะให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ให้ไปถึงสหภาพยุโรป
…….
เรียบเรียงจาก Washington Post
ภาพแผนที่จาก Geogprahic Names