ประธานาธิบดีเออร์โดกันแห่งตุรกีวิจารณ์สหภาพยุโรปว่าเป็นพวกเสแสร้ง หลังถูกกดดันให้ปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย อันเป็นหนึ่งในข้อตกลงให้สิทธิวีซ่าทั่วยุโรปแก่ชาวตุรกี
จากกรณีที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องการหาวิธีรับมือกับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางไหลบ่าเข้าสู่ยุโรป เรื่องนี้นำมาสู่ข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศตุรกี ที่มีข้อแลกเปลี่ยนว่า ตุรกีจะยอมรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้ากรีซตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2559 โดยสหภาพยุโรปก็จะให้เงินสนับสนุนจำนวนหนึ่ง
แต่บนข้อตกลงนี้ ยังมีข้อแลกเปลี่ยนด้วยว่า สหภาพยุโรปจะต้องให้สิทธิทางวีซ่าแก่ชาวตุรกี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อตุรกียอมปรับกฎระเบียบภายในประเทศและยอมทำตามเงื่อนไขอื่นๆ อีก 72 ข้อ
ล่าสุด ข้อตกลงนี้ส่อแววล่ม เพราะหนึ่งในเงื่อนไขคือ ตุรกีต้องแก้ไข “กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย” ซึ่งประธานาธิบดีตุรกี เรเซป ไตยิป เออร์โดกัน ออกมาประกาศว่า ตุรกีทำตามเงื่อนไขต่างๆ แล้ว แต่จะไม่แก้ไขกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย
กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายของตุรกี เป็นหนึ่งในกฎหมายรุนแรงที่ใช้จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและผู้เห็นต่าง
ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า รัฐบาลอังการาจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ข้อตกลงเรื่องวีซ่าก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ทางการตุรกียังคงย้ำว่า กฎหมายนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเอามาใช่รับมือกับกองกำลังนักรบชาวเคิร์ดในประเทศ
ประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกีโต้ตอบอย่างรุนแรงว่า “เมื่อไรกันที่พวกคุณเข้ามาบริหารประเทศนี้ ใครให้อำนาจคุณมา”
“พวกเขา (สหภาพยุโรป) คิดแต่ว่าพวกเขามีสิทธิสู้กับพวกก่อการร้าย แต่กับเรา (ตุรกี) แล้วกลับกลายเป็นเรื่องเกินจำเป็นและยอมรับไม่ได้ ผมจะบอกให้ชัดนะ แบบนี้เขาเรียกว่าเสแสร้ง”
หากสุดท้ายแล้วข้อตกลงนี้ล่ม สหภาพยุโรปไม่ยอมให้สิทธิทางวีซ่าแก่ตุรกี สหภาพยุโรปก็อาจจะต้องหาทางรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัยที่ไหลบ่าเข้ายุโรป
ทั้งนี้ ข้อตกลงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการร่วมเจรจาของนายกรัฐมนตรีอาห์เหม็ด ดาวูทโอลู แต่เขาเพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง ซึ่งประธานคณะกรรมการสภายุโรปก็เห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีผู้มีบทบาทการเจรจาจะลาออกไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าข้อตกลงจะถูกเพิกเฉยได้
ภาพประกอบ: ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป จาก https://twitter.com/Mina_Andreeva/status/700821002679357440