องค์การอาหารและยาของสหรัฐประกาศฉลากแสดงข้อมูลสารอาหารแบบใหม่ ฉลากโภชนาการใหม่ยังคงรูปแบบมินิมัลสีขาวดำเอาไว้ โดยแสดงข้อมูลสำคัญชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตามพฤติกรรมการบริโภคและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนไป เช่น ปรับขนาดหน่วยบริโภคตามลักษณะบรรจุภัณฑ์ ตัดปริมาณแคลอรีจากไขมันออกไป และเพิ่มข้อมูลน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้ามา
มิเชลล์ โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ กล่าวติดตลกระหว่างเปิดตัวฉลากโภชนาการใหม่นี้เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา “อีกไม่นานนี้ คุณไม่จำเป็นต้องมีกล้องจุลทรรศน์ เครื่องคิดเลข หรือปริญญาด้านโภชนาการ เพื่อจะรู้ได้ว่าอาหารที่คุณกำลังซื้อนั้นดีต่อลูกของคุณจริงๆ หรือไม่”
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ข้อชี้แนะในการติดฉลากแบบใหม่จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับสูตรสินค้าอาหารและยาไม่น้อยกว่า 800,000 อย่าง ข้อมูลจากการสำรวจระบุว่าชาวสหรัฐฯ มากกว่าร้อยละ 77 ใช้ข้อมูลจากฉลากโภชนาการระหว่างการเลือกซื้อสินค้า บริษัทผู้ผลิตกังวลว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างของตนอาจจะดึงดูดผู้บริโภคน้อยลงเนื่องจากมาตรฐานใหม่นี้
แต่การปรับสูตรอาหารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เช่นถ้าคุณอยากเพิ่มธัญพืชในอาหารเช้าซีเรียล คุณก็อาจจะต้องเพิ่มน้ำตาลเพื่อกลบความขมของธัญพืช นอกจากนี้ส่วนผสมอย่างน้ำตาลและเกลือ นอกจากใช้เพื่อรสชาติแล้วยังมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ในการยึดเกาะส่วนผสมอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน การปรับลดน้ำตาลลงเพื่อให้สินค้าดูน่าดึงดูดบนฉลากโภชนาการ จึงหมายถึงการที่ผู้ผลิตจะต้องหาวิธียึดเกาะส่วนผสมอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันโดยใช้อย่างอื่นแทนน้ำตาล ไม่เช่นนั้นอาหารเช้าซีเรียลของคุณอาจไม่ได้มาเป็นชิ้นๆ แต่จะมาเป็นผงๆ แทน
นอกจากนี้ปัญหาที่น่าปวดหัวอีกอย่างคือ ชาวอเมริกันบางส่วนมักคิดว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพคืออาหารที่อร่อยน้อยลง
คราฟต์ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ เพิ่งเปิดเผยว่า บริษัทได้ลดจำนวนโซเดียมในมักกะโรนีและชีสของตัวเองโดยไม่ได้บอกลูกค้าเป็น เวลานานหลายเดือน เพราะกลัวแฟนๆ ของสินค้าจะเลิกกิน
ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในฉลากโภชนาการใหม่
- ออกแบบให้สื่อสารชัดเจน
- เพิ่มขนาดตัวอักษรของ “แคลอรี” “หน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์” และ “ขนาดหน่วยบริโภค” ให้เห็นชัดเจนขึ้น รวมทั้งปรับภาษาให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นด้วย
- ผู้ผลิตต้องแจ้งปริมาณ (น้ำหนัก) ที่แท้จริงของวิตามินดี แคลเซียม เหล็ก และโพแทสเซียม เพิ่มเติมไปจากร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (% Daily Value) ที่ปัจจุบันต้องแจ้งอยู่แล้ว
- ปรับปรุงภาษาของหมายเหตุด้านท้าย ให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน” หมายความว่าอย่างไร
- สะท้อนข้อมูลทางโภชนาการใหม่
- เพิ่มข้อมูล “น้ำตาลที่ใส่เพิ่ม” ทั้งในตัวเลขน้ำหนัก และตัวเลขร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ลงในฉลาก — ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วนโดยยังคงได้รับปริมาณแคลอรีไม่เกินที่แนะนำต่อวัน หากร้อยละ 10 ของพลังงานนั้นมาจากน้ำตาลในกระบวนการแปรรูป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐพยายามแนะนำผู้บริโภคให้ลดปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในการแปรรูปอาหาร เพราะมันไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการ การจัดหมวด “น้ำตาลที่เพิ่มเข้ามา” เพื่อจะให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างระหว่างน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาระหว่างการแปรรูปอาหาร กับน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ
- ปรับปรุงรายการสารอาหารที่จะต้องแสดงหรือได้รับอนุญาตให้แสดงได้ โดยจะต้องแจ้งปริมาณวิตามินดีและโพแทสเซียม ส่วนวิตามินเอและวิตามินซีที่เคยต้องแสดงนั้น ในฉลากแบบใหม่จะแจ้งหรือไม่ก็ได้ — เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในภาวะขาดวิตามินเอและซีมานานแล้ว
- ยังคงต้องแสดงปริมาณ “ไขมันทั้งหมด” “ไขมันอิ่มตัว” และ “ไขมันทรานส์” ในฉลากอยู่ แต่นำ “แคลอรีจากไขมัน” ออกไป — เนื่องจากงานวิจัยพบว่า ชนิดของไขมันนั้นสำคัญมากกว่าปริมาณของไขมัน
- ปริมาณที่แนะนำต่อวันของสารอาหารอย่าง โซเดียม ใยอาหาร และวิตามินดี ถูกปรับปรุงบนฐานของข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด
- ปรับปรุงขนาดหน่วยบริโภค
- ตามกฎหมาย ขนาดหน่วยบริโภค จะต้องอยู่บนฐานของปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่คนกินจริงๆ ไม่ใช่ปริมาณที่พวกเขาควรจะกิน ปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่คนกินนั้นได้เปลี่ยนไปจากปริมาณที่เคยกำหนดไว้ล่าสุดเมื่อปี 2536 หรือ 23 ปีที่แล้ว ตัวอย่างเช่น ขนาดหน่วยบริโภคอ้างอิงของไอศกรีมได้เปลี่ยนจาก 1/2 ถ้วยตวง (110 กรัม) มาเป็น 2/3 ถ้วยตวง (150 กรัม) และขนาดหน่วยบริโภคอ้างอิงของน้ำอัดลมได้เปลี่ยนจาก 8 ออนซ์ (237 มิลลิลิตร) มาเป็น 12 ออนซ์ (356 มิลลิลิตร)
- ขนาดบรรจุภัณฑ์มีผลต่อปริมาณการบริโภค ดังนั้นสินค้าที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1 และ 2 หน่วยบริโภค เช่น น้ำอัดลมขวด 20 ออนซ์ หรือซุปกระป๋อง 15 ออนซ์ จะต้องแสดงจำนวนแคลอรีและสารอาหารอื่นๆ เป็น 1 หน่วยบริโภค เพราะคนทั่วไปมักจะกินมันทั้งหมดในคราวเดียว — ตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำอัดลมขวด 20 ออนซ์มีน้ำตาลอยู่ 40 กรัม ก็ต้องแสดงปริมาณน้ำตาลว่า 40 กรัม ตามขนาดหน่วยบริโภคจริง (1 หน่วยบริโภคจริงในกรณีนี้เท่ากับ 20 ออนซ์) ไม่ใช่ไปใช้หน่วยบริโภคอ้างอิง (1 หน่วยบริโภคอ้างอิงเท่ากับ 12 ออนซ์) แล้วแสดงปริมาณน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคว่า 24 กรัม
- สำหรับสินค้าที่มีขนาดมากกว่า 1 หน่วยบริโภค ซึ่งสามารถบริโภคได้ทั้งหมดในคราวเดียวหรือหลายคราว ผู้ผลิตจะต้องแสดงฉลากแบบสองคอลัมน์ เพื่อแสดงจำนวนแคลอรีทั้งในกรณีที่บริโภค “ต่อหน่วยบริโภค” และ “ต่อบรรจุภัณฑ์/ต่อชิ้น” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าจะได้รับปริมาณแคลอรีเท่าใด
ฉลากข้อมูลโภชนาการถูกใช้มาแล้วกว่า 20 ปีในสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลสหรัฐมีเป้าหมายที่จะให้ผู้บริโภคกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ฉลากดังกล่าวปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแทบจะทุกชนิด องค์การอาหารและยาสหรัฐใช้เวลาปรับปรุงฉลากข้อมูลโภชนาการนี้มากกว่า 2 ปี โดยทั้งผู้บริโภค นักวิทยาศาสตร์ และนักล็อบบี้ด้านอาหารได้เข้ามามีส่วนร่วมกันทั้งหมด เนื่องจากมาตรฐานของฉลากดังกล่าวจะมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและยอดขายของอาหารแต่ละชนิด
ผู้บริโภคในสหรัฐจะเห็นฉลากแบบใหม่ในอีกไม่นานนี้ เนื่องจากผู้ผลิตเกือบทั้งหมดจะต้องติดฉลากแบบใหม่ภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ส่วนผู้ผลิตขนาดเล็กที่มียอดขายต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์ต่อปีจะยังมีเวลาขยายออกไปอีกหนึ่งปีคือปี 2562
“ความตั้งใจไม่ใช่เพื่อบอกผู้บริโภคว่าจะต้องกินอะไร แต่เป็นการทำให้มั่นใจว่าพวกเขามีเครื่องมือและข้อมูลที่เที่ยงตรงเพื่อจะตัดสินใจเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับตัวพวกเขาและครอบครัว” ซูซาน เมย์น ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการประยุกต์แห่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
แถมท้ายด้วยรูปแบบฉลากข้อมูลโภชนาการของไทย
ที่มา: Washington Post, U.S. Food and Drug Administration
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: เรียนรู้วิธีอ่าน ‘ฉลากโภชนาการ’ – สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ฉลากโภชนาการให้อะไรกับผู้บริโภค – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ
หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหา ในส่วน “น้ำตาลที่ใส่เพิ่ม” เมื่อเวลา 02.02 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2559