วันนี้ (5 มิ.ย.) ประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์กำลังจะโหวตประชามติว่า รัฐบาลจะต้องให้หลักประกัน “รายได้ขั้นพื้นฐาน” แก่พลเมืองทุกคนหรือไม่
ที่มาของการประชามติครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการเข้าชื่อของประชาชน 1 แสนกว่าคน ให้รัฐบาลจัดประชามติว่า สวิตเซอร์แลนด์ต้องรับรองหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานในจำนวนที่เพียงพอให้ประชาชนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่ โดยข้อเสนอเบื้องต้นเสนอตัวเลขรายได้ที่ 2,500 สวิสฟรังก์ต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทยจำนวน 90,000 กว่าบาท
ในนิยามคำว่ารายได้ขั้นพื้นฐานนี้ หากคนงานที่สามารถทำงานแล้วมีรายได้เกินกว่า 2,500 สวิสฟรังก์แล้วก็จะไม่ได้เงินส่วนนี้เพิ่ม
ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่า เพราะในศตวรรษที่ 21 นี้ งานอะไรๆ มันก็เริ่มหันไปใช้เครื่องจักรให้ทำงานให้อัตโนมัติแล้ว ทำให้คนทำงานหางานได้ยากขึ้น
เช วากเนอร์ ( Che Wagner) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์เรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานบอกว่า เงินส่วนนี้ ใช่ว่าจะให้เปล่า เพราะในสังคมสวิตเซอร์แลนด์ มีงานจำนวนมากที่ทำไปโดยไม่ได้รับค่าจ้าง มันคืองานดูแล ไม่ว่าจะภายในบ้าน ในชุมชน งานจำพวกนี้ราคาแพงกว่ารายได้ขั้นพื้นฐานเสียอีก
ฝ่ายสนับสนุนยังเห็นว่า การที่รัฐบาลจะรับประกันรายได้ขั้นพื้นฐานให้ จะไม่ทำให้คนเลิกทำงาน เพราะยังไงก็มีแรงกระตุ้นให้คนชอบใช้ชีวิตแบบอู้ฟู่หรูหรา
ดาเนียล สท็อบ (Daniel Struab) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการริเริ่มหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน เห็นว่า ถ้ามีรายได้ขั้นพื้นฐานแล้ว จะเป็นแรงจูงใจให้ตลาดเพิ่มรายได้ให้แก่งานที่ไม่มีใครอยากทำแต่มีความสำคัญ และก็จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานของงานเหล่านี้ ต้องถูกบีบให้พัฒนาขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ไม่น่าจะได้รับชัยชนะในการประชามติวันนี้ ผลสำรวจชี้ว่าประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน เพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่สนับสนุนแนวคิดนี้
นักการเมืองสวิสเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เรียกได้ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาที่สนับสนุนแนวคิดนี้เลย เพราะกังวลว่า การได้เงินมาโดยไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกับการทำงานเลยไม่น่าจะมีผลดีต่อสังคม และหากจะดำเนินนโยบายนี้ ทำให้ต้องตัดงบประมาณด้านอื่นซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์
ด้าน ลูซิ สตัมม์ (Luzi Stumm) สมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาไม่เห็นด้วย เห็นว่าถ้าสวิตเซอร์แลนด์แจกเงินให้ประชาชนแบบนี้ ก็จะมีคนอีกเป็นพันล้านที่จะพยายามย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศ
นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว แนวคิดเรื่องหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าโดยรัฐ ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่หลายประเทศจะเริ่มดำเนินการในปี 2017 แต่ละประเทศออกแบบระบบต่างกัน บางที่ออกแบบให้เฉพาะคนจน บางที่เป็นถือเป็นหลักประกันโดยไม่มีเงื่อนไข เช่นที่ฟินแลนด์ รัฐบาลกำลังพิจารณาจะทดลองให้รายได้ขั้นพื้นฐานจำนวน 500 – 700 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยราว 20,000 – 28,000 บาท แก่คนจนจำนวน 180,000 คน อัตรานี้ถือว่าต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนฟินแลนด์ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 180,000 บาท ส่วนที่เมืองอูเทร็คท์ในเนเธอร์แลนด์ ก็กำลังพัฒนาโครงการซึ่งจะให้แก่คนโสดจำนวน 972.70 ยูโร และคู่สมรสจำนวน 1,389.57 ยูโร (คิดเป็นเงินไทยคือ 40,000 และ 56,000 บาท ตามลำดับ) และจะมีเงินเพิ่มให้อีกหากทำงานอาสาสมัคร
สำหรับการประชามติในสวิตเซอร์แลนด์วันอาทิตย์นี้ (5 มิ.ย.) เรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นเพียง 1 เรื่องจาก 5 เรื่อง ซึ่งประเด็นอื่นๆ ที่ประชาชนมาลงมติกัน ยังรวมถึงเรื่องการบริการสาธารณะ และเรื่องการทำให้กระบวนการขอพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยง่ายดายขึ้นด้วย
…….
ที่มา:
- BBC. Switzerland to hold first ever vote on basic income. BBC. 5 June 2016
- Olivia Goldhill. Switzerland is voting on a proposal to give every citizen $2,500 a month, no questions asked. Quartz. 4 June 2016.
- Philip Oltermann. State handouts for all? Europe set to pilot universal basic incomes. Guardian. 2 June 2016.
- Dagmar Breitenbach. Basic income for the Swiss?. DW. 1 February 2016.
ที่มาภาพ:
- ภาพอาคารและธง จาก Mark Jensen
- ภาพป้ายรณรงค์ จาก Generation Grundeinkommen by Julien Gregorio