เมื่อ “อินสตาแกรม” แสดงผลไม่เหมือนเดิม

นับแต่เดือนนี้เป็นต้นไป “อินสตาแกรม” (Instagram) โซเชียลมีเดียภาพถ่ายยอดนิยมจะเปลี่ยนวิธีการป้อนเนื้อหาแบบใหม่ จากเดิมที่แสดงตามลำดับเวลา ก็จะมาใช้อัลกอริทึมเรียงเนื้อหาแทน

อินสตาแกรมประกาศเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม และย้ำอีกครั้งเมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา บอกว่าทุกวันนี้ ผู้ใช้ได้เห็นรูปภาพที่โชว์ขึ้นมาแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ ร้อยละ 30 นั้นเป็นส่วนที่มีประสิทธิภาพ

อินสตาแกรมไม่ได้อธิบายละเอียดว่าอัลกอริทึมของมันทำงานอย่างไร แต่โดยทั่วไป ระบบมักคำนวณพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของเรา เช่น เรากดค้นหาเรื่องอะไร เรากดติดตามใคร แล้วเอาข้อมูลเหล่านั้นมาคำนวณเพื่อแสดงเนื้อหาตามสิ่งที่คิดว่าเราจะสนใจ

เฟซบุ๊ก ซึ่งซื้ออินสตาแกรมไปเมื่อปี 2012 ในราคา 1 พันล้านบาท เป็นโซเชียลมีเดียที่เริ่มใช้อัลกอริทึมมาแสดงระบบนิวส์ฟีด (หรือที่เรียกกันติดปากว่า ไทม์ไลน์) ตั้งแต่ปี 2009 เรื่องนี้ Zeynep Tufekci รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนากล่าวว่า คนไม่ค่อยตระหนักถึงระดับที่แพลตฟอร์มเหล่านี้คัดสรรเรื่องราวโดยอัลกอริทึ่มขนาดไหน

ในบทความของ Tufekci เผยว่า อัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กทำลายความหลากหลายของเนื้อหาที่เราได้เห็นบนฟีด โดยซ่อนเนื้อหาที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย เน้นโชว์เนื้อหาที่เราน่าจะพอใจ ซึ่งสอดคล้องกับขอสันนิษฐานที่หลายคนมีต่อเฟซบุ๊กว่า อัลกอริทึ่มของมันแสดงผลที่ผู้ใช้เห็นด้วย ไม่ใช่ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าใช้ “อัลกอริทึม” ในการดึงเนื้อหา ก็แปลว่า ผู้ให้บริการมีอำนาจบางอย่างในฐานะผู้ควบคุมประตูสื่อสาร หรือ Gate keeper ดังที่เป็นข่าวกันเดือนก่อนนี้ว่า อดีตพนักงานของเฟซบุ๊กเผยว่า ทีมเฟซบุ๊กเองก็มีอคติในการเลือกเรื่องในกระแส หรือ Trending Topic ก่อนที่จะมีข่าวออกมาปฏิเสธไปแล้วก็ตาม

ในบทความอีกชิ้นที่เขียนโดย nrad6949 เรื่อง “อคติในอัลกอริทึม (Algorithm Bias) เมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นกลางอย่างที่คิด” ระบุว่า แม้ผู้ให้บริการจะพยายามรักษา “ความเป็นกลาง” ให้ระบบเพียงใด แต่อคติในอัลกอริทึ่มเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงอย่างไรผู้ออกแบบระบบก็มีอำนาจเหนือผู้ใช้งาน สิ่งที่ทำได้มีเพียงการสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบอัลกอริทึม คือการเปิดให้สาธารณะได้เห็นถึงโค้ดเบื้องหลัง แต่เรื่องนี้ก็วนไปถึงปัญหาเชิงธุรกิจ เพราะเรื่องที่ว่า อัลกอริทึมของแต่ละเจ้าทำงานอย่างไรถือเป็นความลับสุดยอดของผู้ให้บริการแต่ละแห่ง

แม้เฟซบุ๊กดูเป็นพื้นที่ที่คนสนใจข่าวและการเมืองมากกว่าอินสตาแกรม แต่อย่างไรก็ตาม อินสตาแกรมก็เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อหลายๆ สำนักใช้ และมันยังมีผู้ใช้ถึง 400 ล้านบัญชี การเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอมาใช้อัลกอริทึมครั้งนี้ ก็เป็นอีกจังหวะที่น่าจับตาว่า โซเชียลมีเดียนี้จะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการสนทนาของเราอย่างไร

ที่มา:

ที่มาภาพ: Franklin Heijnenhttps://www.flickr.com/photos/franklinheijnen/12518358145/